นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เปิดเผยว่า ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย(ADB) พร้อมสนับสนุนเงินกู้ Program Loan แก่ไทยในปี 52 วงเงิน 500-1,000 ล้านดอลลาร์ ระยะเวลาชำระคืน 24 ปี ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าตลาด เพื่อใช้สำหรับลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็คต์ ทั้งโครงการรถไฟฟ้า การลงทุนขนส่งมวลชนระบบราง การพัฒนาแหล่งน้ำ ตลอดจนด้านสาธารณสุข
ทั้งนี้นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.คลัง ได้มีการยืนยันกับ ADB แล้วว่าไทยต้องการวงเงินสนับสนุนดังกล่าว
"สถานการณ์ที่สภาพคล่องตึงตัว และจากที่ ครม.ได้อนุมัติ 11 มาตรการเข้ามาดูแลวิกฤติจากสหรัฐฯ โดยให้กู้เงินต่างประเทศแบบรัฐต่อรัฐเพื่อเป็นแหล่งระดมเงินทุน ซึ่งส่วนนี้จะได้เสนอ ครม.เพิ่มเติมให้เป็นการกู้กับสถาบันระหว่างประเทศด้วย" นายพงษ์ภาณุ ระบุ
ด้านนายฌอง ปิแอร์ เอ เวอร์บีสท์ ผู้อำนวยการ ADB สำนักงานผู้แทนประจำประเทศไทย กล่าวว่า ADB ยังไม่มีแผนจะออกบาทบอนด์ในระยะเวลาอันใกล้นี้ และยืนยันว่าการออกบาทบอนด์ของ ADB จะต้องไม่กระทบหรือรบกวนสภาพคล่องในประเทศไทย ซึ่งการออกพันธบัตรของ ADB ส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์ในการระดมเงินเพื่อปล่อยสินเชื่อต่อ แต่การออกบาทบอนด์ในประเทศไทยไม่ใช่วัตถุประสงค์หลักในการออกพันธบัตรของ ADB แต่เป็นการออกบาทบอนด์เพื่อพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศไทย
นอกจากนี้การออกพันธบัตรของ ADB จะมีการหารือกับกระทรวงการคลัง และสถาบันการเงินของไทยทุกครั้ง เพื่อไม่เป็นการรบกวนสภาพคล่องในไทย
ทั้งนี้จากวิกฤติภาคการเงินในสหรัฐฯ ขณะนี้จะยังไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องในประเทศไทย แต่อนาคตยังมีความไม่แน่นอนและผลกระทบทางอ้อมต่อไทย จะทำให้มีเงินไหลเข้ามาลงทุนในไทยน้อยลงและสภาพคล่องจะตึงตัวขึ้น ซึ่งสถาบันการเงินของไทยรวมถึงทั้งภูมิภาคจะมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อส่งผลให้ต้นทุนการกู้เงินสูงขึ้น ซึ่งในส่วนนี้ ADB พร้อมให้การสนับสนุนเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ไม่สูงเกินไป
ผ.อ.ADB สำนักงานผู้แทนประจำประเทศไทย กล่าวว่า เหตุที่ ADB ไม่มีแผนจะออกบาทบอนด์ในระยะนี้ เพราะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องระดมเงินให้กู้ต่อ ซึ่งโครงการลงทุนภาครัฐยังมี Import Content ที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินบาท ดังนั้น ADB จึงไม่จำเป็นต้องระดมเงินบาทเพื่อให้กู้ต่อ
นายพงษ์ภาณุ กล่าวว่า เป้าหมายการออกบาทบอนด์ของไทย เพื่อต้องการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ โดยจะเน้นให้สถาบันระหว่างประเทศที่ออกบาทบอนด์ต้องมีเครดิตดีในระดับ AAA ขึ้นไป นอกจากนี้การพิจารณาออกบาทบอนด์จะดูโครงสร้างของสภาพคล่องในประเทศ ซึ่งจะพิจารณาจากการระดมเงินของภาครัฐและเอกชนที่ออกพันธบัตร โดยเมื่อมีส่วนเกินของความจำเป็นในการออกพันธบัตรจึงจะให้สถาบันการเงินระหว่างประเทศออกบาทบอนด์ได้
สำหรับช่วงบ่ายนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการออกบาทบอนด์ โดยมีกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) หารือร่วมกันเพื่อวางหลักเกณฑ์การออกบาทบอนด์ที่เข้มงวดมากขึ้น โดยไม่ให้ส่งผลกระทบกับสภาพคล่องในประเทศ และจะนำผลการหารือที่ได้รายงานต่อ รมว.คลัง ให้รับทราบต่อไป
"ในปี 51 มีสถาบันระหว่างประเทศและภาคเอกชนต่างประเทศที่ขอออกบาทบอนด์กว่า 40 แห่ง วงเงิน 320,000 ล้านบาท แต่อนุมัติให้เพียง 15 แห่ง เป็นวงเงินเกือบ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งใน 9 เดือนที่ผ่าน มามีการออกบาทบอนด์ไปเพียง 2 แห่ง วงเงิน 7 พันล้านบาทเท่านั้น ดังนั้นโควตาที่เหลืออยู่เกือบ 4 หมื่นล้านบาท อาจจะขอร้องให้ชะลอการออกบาทบอนด์ออกไป" นายพงษ์ภาณุ ระบุ
--อินโฟเควสท์ โดย จารุวรรณ ไหมทอง/กษมาพร/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--