IN FOCUS: ลอกคราบ"วอลล์สตรีท"..จากสัญลักษณ์แห่งทุนนิยม จนถึงวันที่ล้มระนาวดุจใบไม้ร่วง

ข่าวต่างประเทศ Thursday October 2, 2008 14:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ใครจะคาดคิดว่า วอลล์สตรีท หนึ่งในสัญลักษณ์แห่งทุนนิยมที่ "เคย" มีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจทั้งโลกและเป็นย่านธุรกิจที่สถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกก่อร่างสร้างตัวมาด้วยกันเป็นเวลานานนับศตวรรษ จะมาถึงยุค "ล้มละลายดุจใบไม้ร่วง" ...ใครจะคาดคิดว่า วอลล์สตรีท ฐานที่มั่นทางเศรษฐกิจอันเป็นความภาคภูมิในของสหรัฐและเป็นที่ตั้งของตลาดหุ้นนิวยอร์กอันทรงอิทธิพลที่สุดของโลก จะมาถึงยุคที่ถูกบริษัทและสถาบันการเงินถูกนักลงทุนกลุ่มปลาใหญ่ "ไล่ฮุบ" อย่างง่ายดายเหมือนในยุคนี้
อันที่จริง วอลล์สตรีท เคยฝ่ากระแสคลื่นลมมาหลายต่อหลายครั้ง รวมถึงวิกฤตการณ์" แบล็คมันเดย์" ในปีพ.ศ.2530 ที่ฉุดดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงไปกว่า 23% แต่ยังดีที่ยุคนั้นนายอลัน กรีนสแปน ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้เพียง 2 เดือนสามารถงัดกลยุทธ์ทุกกระบวนท่า จนสหรัฐสามารถลดผลกระทบจากวิกฤตการณ์ดังกล่าวได้ในเวลาไม่นานนัก
จากนั้น วอลล์สตรีทก็ต้องโต้คลื่นเศรษฐกิจครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการณ์ใหญ่ๆที่ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินเป็นระยะๆ นับตั้งแต่ สงครามอ่าวเปอร์เซีย วิกฤติการณ์ค่าเงินเปโซของเม็กซิโก วิกฤติต้มยำกุ้งในเอเชีย การล้มละลายของกองทุน Long Term Capital Management (LTCM) วิกฤตฟองสบู่ดอทคอมแตก และมาถึง..เหตุวินาศกรรม 9/11 เมื่อเดือนก.ย. พ.ศ.2544 ...แต่วอลล์สตรีทก็ฝ่ามรสุมอันหนักหน่วงมาได้ ด้วยปัจจัยพื้นฐานที่ยังคงแข็งแกร่งและความเชื่อมั่นที่ดีของนักลงทุน
กระทั่งประมาณกลางปีพ.ศ.2550 วอลล์สตรีทเผชิญวิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งใหญ่ นั่นคือ "วิกฤตซับไพรม์" หรือปัญหาที่เกิดขึ้นจากตลาดปล่อยกู้จำนองให้กับลูกหนี้ที่ขาดความน่าเชื่อถือ ซึ่งวิกฤตนี้ได้ส่งแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก..เป็นต้นเหตุแห่งปัญหาในระบบการเงินทั่วโลก ผลกระทบของวิกฤตซับไพรม์ลุกลามอย่างรวดเร็วในตลาดการเงิน สร้างความเสียหายที่กระจายวงกว้างออกไปสู่ยุโรป ออสเตรเลีย และเอเชีย จนแม้แต่อลัน กรีนสแปน ยอมรับว่าเขาไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าวิกฤตซับไพรม์จะสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจสหรัฐและระบบเศรษฐกิจโลกในวงกว้างเพียงใด
"ผมรับรู้ว่ารัฐบาลมีการใช้นโยบายหลายๆด้านเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ผมก็ไม่สามารถล่วงรู้ว่าวิกฤตซับไพรม์จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญจนกระทั่งสายเกือบจะเกินแก้ โอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐจะทรุดตัวลงนั้นมีอยู่ไม่ถึง 50% แต่ก็ยังไม่มีอะไรแน่นอน ผมคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจจะชะลอตัวลง ตลาดสินเชื่อยามนี้กำลังอยู่ในภาวะ 'ตื่นตระหนก' มากกว่าที่จะอยู่ในภาวะ 'สงบ' " กรีนสแปนกล่าวในที่ประชุมนักธุรกิจและการเงินในเขตมิดเวสต์เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว
มาถึงปีพ.ศ.2551 นับเป็นยุคเสื่อมและตกต่ำสุดของวอลล์สตรีท เป็นยุคที่สถาบันการเงินและบริษัทพากันล้มละลายดุจใบไม้ร่วง ที่เหลืออยู่เป็นแต่เพียงการประคองตัวเองให้อยู่รอดเท่านั้น...เมื่อย้อนรอยกลับไปดูเหตุการณ์สถาบันการเงินและบริษัทล้มละลายตั้งแต่ต้นปีพ.ศ.2551 ก็น่าใจหาย
16 มี.ค. 2551 "แบร์ สเติร์นส์" วาณิชธนกิจรายใหญ่อันดับ 5 ของสหรัฐ ตัดสินใจขายกิจการให้เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค หลังขาดทุนติดต่อกันหลายไตรมาสและลูกค้าแห่ถอนเงินสดจำนวนมาก
11 ก.ค.2551 รัฐบาลสหรัฐประกาศยึดกิจการธนาคาร "อินดีแมค" หลังจากธนาคารขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง เพราะได้รับความเสียหายจากภาวะหดตัวในตลาดสินเชื่อ ราคาบ้านที่ทรุดตัวลง และยอดการผิดนัดชำระหนี้ที่พุ่งสูงขึ้น
7 ก.ย.2551 เฟดและกระทรวงการคลังสหรัฐ เข้าอุ้มกิจการ "แฟนนี แม" และ "เฟรดดี แมค" สองหน่วยงานด้านสินเชื่อเพื่อการเคหะที่ขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง
15 ก.ย.2551 ในที่สุด เลห์แมน บราเธอร์ส ยื่นขอความคุ้มครองทรัพย์สินตามกฎหมายล้มละลายที่ศาลแขวงนิวยอร์ก ข่าวการล้มละลายของเลห์แมน ซึ่งได้สร้างแรงสั่นสะเทือนทั่วระบบสถาบันการเงินของโลก เพราะเป็นการล้มละลายครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์สถาบันการเงินของสหรัฐ และ ถือเป็นการปิดฉากวาณิชธนกิจที่มีอายุยาวนานถึง 158 ปี
- ในวันเดียวกันนี้ "เมอร์ริล ลินช์" วาณิชธนกิจรายใหญ่อีกแห่งหนึ่งของสหรัฐ ตัดสินใจขายกิจการให้กับ แบงค์ ออฟ อเมริกา
16 ก.ย.2551 เฟดเข้าเทคโอเวอร์กิจการบริษัท อเมริกัน อินเตอร์เนชันแนล กรุ๊ป (AIG) แลกเปลี่ยนกับการที่เฟดเข้าไปถือหุ้น 79.9% ใน AIG
22 ก.ย.2551 "โกลด์แมน แซคส์" และ "มอร์แกน สแตนลีย์" สองวาณิชธนกิจที่เหลืออยู่ในวอลล์สตรีท ได้รับอนุมัติจากเฟดให้เปลี่ยนสถานะเป็น "บริษัทโฮลดิ้งธนาคาร" เพื่อช่วยให้บริษัทสามารถเข้าถึงแหล่งระดมทุนได้ง่ายขึ้น
25 ก.ย.2551 "เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค" ตัดสินใจเข้าซื้อกิจการ "วอชิงตัน มูชวล" สถาบันการเงินประเภทออมทรัพย์ใหญ่อันดับ 2 ของสหรัฐ หลังจากวอชิงตัน มูชวล เผชิญวิกฤตการณ์ทางการเงินจนบรรษัทประกันเงินฝากแห่งสหรัฐ (FDIC) ต้องเข้ายึดกิจการบริษัท ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการล้มละลายครั้งใหญ่เท่าที่เกิดขึ้นในแวดวงธนาคารของสหรัฐ
วิลเลียม ไอแซค อดีตประธานบรรษัทรับประกันเงินฝากรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) กล่าวว่า "การตัดสินใจเปลี่ยนสถานะตนเองของโกลด์แมน แซคส์ และมอร์แกน สแตนลีย์ สะท้อนให้เห็นว่าวอลล์สตรีทมาถึงจุดอวสานและสิ้นความขลังของการเป็นศูนย์กลางการเงินที่น่าดึงดูดใจ และถือเป็นการปิดม่านยุคแห่งความเฟื่องฟูของวาณิชธนกิจที่มีมานานถึงสองทศวรรษ"
ขณะที่ ปีเตอร์ โควาลสกี ผู้บริหารของแอลไพน์ วู๊ดส์ แคปิตอล อินเวสเตอร์ แอลแอลซี มองว่า "แม้โกลด์แมน แซคส์ และ มอร์แกน สแตนลีย์ เปลี่ยนสถานะเป็นธนาคารแล้ว แต่ในอุตสาหกรรมการเงินสหรัฐตอนนี้เหมือนน้ำที่ยังมี "เลือด"ลอยอยู่ และส่งกลิ่นเรียกฉลามให้เข้ามา "ฮุบ"
เมื่อกลางเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ตลาดการเงินทั่วโลกตื่นตระหนกอีกครั้ง เมื่อกรีนสแปน กล่าวให้สัมภาษณ์ในรายการ "This Week" ทางสถานีโทรทัศน์ ABC ว่า "...อาจมีสถาบันการเงินและบริษัทในวอลล์สตรีทล้มละลายอีก ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตการณ์ในตลาดซับไพรม์และจากภาวะตึงตัวในตลาดสินเชื่อ แต่รัฐบาลไม่ควรเข้าไปพยุงหรือช่วยเหลือทั้งหมด เพราะในทุกเกมชีวิต ย่อมมีผู้ชนะและผู้แพ้"
...นับจากนี้ คงต้องจับตาดูว่า การพยากรณ์ของกูรูเศรษฐกิจอย่างกรีนสแปนจะเป็นจริงมากน้อยเพียงใด ..ใครจะรอดพ้นจากวิกฤตการณ์การเงิน...และใครจะเป็น "ผู้แพ้" รายต่อไป โปรดอย่ากระพริบตา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ