คลังไม่พบปัญหาจากสหรัฐเพิ่มเติมที่จะกระทบต่อตลาดเงิน-ตลาดทุน-ประกันไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 2, 2008 15:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามประสานงานแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในภาวะฉุกเฉิน เปิดเผยว่า การประชุมของคณะกรรมการฯ วันนี้เป็นการติดตามข้อมูลและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากวิกฤติภาคการเงินในสหรัฐฯ และสถานการณ์โลกอย่างใกล้ชิด ซึ่งไม่พบปัญหาเพิ่มเติมที่จะกระทบต่อภาคการเงิน ตลาดทุน และธุรกิจประกันภัย 
พร้อมกันนี้ ได้มีการติดตามข้อเสนอและความคิดเห็นต่างๆ ที่ได้ดำเนินการมาแล้วตามมติคณะรัฐมนตรี และประเด็นอื่นๆ ที่คณะกรรมการฯ จะนำมาติดตามและดำเนินการเพื่อให้เกิดผลโดยเร็ว
"การเปลี่ยนแปลงในภาคการเงินและความมั่นคงของสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ยุโรป และในภูมิภาคเอเชียยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในทางที่น่าเป็นห่วงเพิ่มขึ้น...เรามีหน่วยงานติดตามอย่างใกล้ชิด มีระบบและกลไกชัดเจน โดยดูว่าสถานการณ์การเงิน องค์กรในสหรัฐ ยุโรป และอื่นๆที่มีปัญหาหรือเริ่มมีปัญหาจะดูจากเครื่องมือหลายๆ อย่างที่บ่งชี้ เช่น เครดิตเรทติ้ง และจะดูว่ากลุ่มที่น่าจับตามีผลต่อสถาบันการเงินหรือธุรกิจในไทยมากน้อยแค่ไหน เพื่อหาทางแก้ปัญหาแต่เนิ่นๆ"นายศุภรัตน์ กล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เป็นหน่วยงานกลางประสานข้อมูลกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับทราบข้อมูลโดยตรงและสอดคล้องกันและเป็นตัวเสริมการทำงานในอนาคต ซึ่งเป็นข้อมูลที่จะชี้แจงต่อสาธารณชนต่อไป
ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งพบว่าความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อลดลงแต่ความเสี่ยงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มสูงขึ้น ดังนั้นการดำเนินนโยบายการเงินการคลัง ต้องพุ่งเป้าไปที่การดูแลเศรษฐกิจ ซึ่งวิกฤติจากสหรัฐฯขณะนี้เป็นเพียงผลกระทบในระยะใกล้ แต่หากสถานการณ์ยังรุนแรงขึ้นจะยิ่งสร้างความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจของประเทศสูงขึ้น
ด้านนางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ขณะนี้สภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์มีจำนวนมากกว่า 3-4 แสนล้านบาท และสถาบันการเงินในไทยอยู่ในระดับที่เข้มแข็งมาก แต่การติดตามข้อมูลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของสถาบันการเงินต่างประเทศจำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อพิจารณาผลกระทบต่อสถาบันการเงินในประเทศไทย
พร้อมยืนยันว่าภาวะเงินทุนไหลออกขณะนี้ไม่ได้อยู่ในภาวะผิดปกติ เงินทุนที่ไหลออกยังเป็นไปในทิศทางเดียวกับภูมิภาค ตั้งแต่เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเหตุการณ์ในสหรัฐฯ จะต้องนำนโยบายการเงิน นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนมาดูแลภาวะเศรษฐกิจให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยต้องประเมินภาพรวมเศรษฐกิจการเงินโลกที่มีผลต่อการเติบโตเศรษฐกิจของไทย เนื่องจากความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อมีน้อยลง แต่ความเสี่ยงต่อการเติบโตเศรษฐกิจมีมากขึ้น
"ผลกระทบตอนนี้ ต้องดูทั้งภาค Real Sector ทั้งของสหรัฐฯ และกลุ่มจี 3 ซึ่งมองแล้วในที่สุดจะส่งผลกระทบต่อเอเชีย และการที่ไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจเปิด ต้องมีผลกระทบต่อภาคการส่งออก การท่องเที่ยว และเงินทุนไหลออกแน่นอน และมีผลต่อการลงทุน ดังนั้นนโยบายภาครัฐ ควรเน้นที่ความพร้อม ไม่เฉพาะกระตุ้นการบิรโภคเท่านั้น...ต้องชั่งน้ำหนักถึงความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ" นางอัจนา กล่าว
นางอัจนา กล่าวว่า นโยบายการเงินในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนจะต้องดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทมีความผันผวน และเป็นไปในทิศทางเดียวกับภูมิภาค เพื่อไม่ให้กระทบต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน ส่วนนโยบายดอกเบี้ยจะเป็นลักษณะผ่อนคลายหรือไม่คงไม่สามารถบอกได้ แต่ต้องรอการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ในวันที่ 8 ต.ค.ซึ่งจะมีการนำข้อมูลมาพิจารณา
นางนงราม วงษ์วานิช รองผู้จัดการสายงานบริหาร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ(ตลท.) กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นแต่ได้เริ่มลดลงตามลำดับ และจากการหารือกับภาคอุตสาหกรรม พบว่าการซื้อขายหุ้นในช่วงนี้เป็นลักษณะของกลุ่มเก็งกำไรระยะสั้น แต่การลงทุนระยะยาวยังไม่มีการเทขาย
ดังนั้นจึงสะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนต่างชาติยังมั่นใจลงทุนในตลาดหุ้นไทย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มี บลจ.ที่ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดตั้งกองทุน Matching Fund ที่พร้อมเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นแล้ว ในวงเงิน 2,000 ล้านบาท
นางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและรส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.)ยืนยันว่า บริษัทประกันชีวิตและประกันภัยในประเทศไทยยังมีสถานะทางการเงินที่มั่นคง โดยมีการติดตามฐานะการเงินของธุรกิจทุก 30 วัน ส่วนการจัดตั้งกองทุน คุ้มครองผู้เอาประกันเป็นการดำเนินการตามกฎหมาย และเป็นแนวคิดที่ดำเนินการตั้งแต่ เม.ย. ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการจัดตั้ง การหาแหล่งเงินของกองทุน และสัดส่วนที่ภาคเอกชนต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุน เพื่อนำเสนอคณะกรรมการ คปภ.พิจารณาต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ