ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโรและปอนด์ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (2 ต.ค.) หลังจากธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ส่งสัญญาณว่าอาจต้องลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในยุโรป ซึ่งข่าวดังกล่าวช่วยหนุนค่าเงินดอลลาร์พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 1 ปีเมื่อเทียบกับยูโร
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ค่าเงินยูโรร่วงลงแตะระดับ 1.3796 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับของวันพุธ 1.4019 ดอลลาร์/ยูโร และค่าเงินปอนด์ดิ่งลงแตะระดับ 1.7622 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 1.7710 ดอลลาร์/ปอนด์
ค่าเงินดอลลาร์แข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบเงินฟรังค์ที่ระดับ 1.1371 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับของวันพุธที่ 1.1243 ฟรังค์/ดอลลาร์ แต่อ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินเยนที่ระดับ 105.23 เยน/ดอลลาร์ จากระดับ 105.78 เยน/ดอลลาร์
ส่วนค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ร่วงลงแตะระดับ 0.6573 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับของวันพุธที่ 0.6731 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ และค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียร่วงลงแตะระดับ0.7714 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับ 0.7881 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย
อีซีบีตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยที่ 4.25% ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารที่นครแฟรงค์เฟิร์ตเมื่อวานนี้ เนื่องจากความกังวลเรื่องเงินเฟ้อมีมากกว่าความวิตกเรื่องวิกฤตการเงินที่กำลังแผ่ขยายลุกลามทั่วยุโรป
อย่างไรก็ตาม นายฌอง-คล้อด ทริเชต์ ประธานอีซีบีออกแถลงการณ์ภายหลังการประชุมว่า ภาวะเศรษฐกิจที่เสี่ยงต่อการถดถอยในขณะนี้ทำให้คณะกรรมการอีซีบีต้องหารือกันถึงทางออกในหลายๆด้าน ซึ่งรวมถึงการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้ การแสดงความเห็นดังกล่าวของนายทริเชต์ได้ฉุดค่าเงินยูโรดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 1 ปีเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์
ก่อนหน้านี้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า อีซีบีอาจประกาศลดดอกเบี้ยเนื่องจากวิกฤตการเงินส่งผลให้เศรษฐกิจในเขตยูโรโซนถดถอยเป็นครั้งแรก และยังทำให้รัฐบาลต้องอุ้มสถาบันการเงิน 5 แห่งในยุโรปที่ประสบปัญหา โดยซิตี้กรุ๊ป, ดอยช์ แบงค์ เอจี, โกลด์แมน แซคส์ กรุ๊ป อิงค์ และ เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค คาดว่าอีซีบีจะลดดอกเบี้ยก่อนสิ้นปีนี้
นับตั้งแต่ที่เกิดความผันผวนในตลาดทั่วโลก อีซีบีได้แสดงจุดยืนชัดเจนที่จะแยกนโยบายการเงินและการบริหารสภาพคล่องออกจากกัน โดยอีซีบีได้อัดฉีดเงินสดเข้าระบบการเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องในการปล่อยกู้ ขณะเดียวกันก็คงอัตราดอกเบี้ยไว้เพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่ดีดตัวขึ้นมากที่สุดในรอบ 16 ปี
นักลงทุนจับตาดูว่าสภาคองเกรสจะอนุมัติแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ในการประชุมวันศุกร์นี้หรือไม่ หลังจากวุฒิสภาสหรัฐมีมติด้วยคะแนนเสียง 74 ต่อ 25 ให้อนุมัติแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ในช่วงเช้าวานนี้ตามเวลาประเทศไทย
นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตร (non farm payroll) ประจำเดือนก.ย.ซึ่งกระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยในคืนวันศุกร์ โดยนักวิเคราะห์คาดว่าตัวเลขจ้างงานจะร่วงลงอีก 105,000 ตำแหน่ง ซึ่งจะเป็นการร่วงลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 อันเป็นผลมาจากวิกฤตการณ์สินเชื่อที่ส่งผลกระทบไปเกือบทุกภาคส่วนของสหรัฐ
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--