ส.อ.ท.เร่งรวบรวมผลกระทบส่งออกจากวิกฤติสหรัฐ/เสนอ 8 แนวทางให้รมว.คลัง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 3, 2008 10:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้สมาชิกรวบรวมข้อมูลเพื่อประเมินผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐที่จะมีต่อยอดการส่งออกของไทยว่าจะมีมากน้อยแค่ไหน เบื้องต้นอุตสาหกรรมที่ส่งออกไปสหรัฐเป็นหลัก ได้แก่ อิเล็คทรอนิคส์ อัญมณี ไฟฟ้า เสื้อผ้า โดยแต่ละปีมีมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ จากมูลค่าการส่งออกรวมต่อปี 1.6 แสนล้านดอลลาร์
รัฐบาลควรจะเข้ามาดูแลช่วยรักษาตลาดเก่า และหาตลาดใหม่ๆ เข้ามาเสริม เพื่อลดผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐ เนื่องจากมองว่าแผนฟื้นฟูสถาบันการเงินของสหรัฐที่จะอัดฉีดเงิน 7 แสนล้านดอลลาร์ไม่น่าเพียงพอในการกอบกู้วิกฤติได้ เพราะขณะนี้สถานการณ์เริ่มรุนแรงและลุกลามไปยังยุโรปและญี่ปุ่นแล้ว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกมากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม นายสันติ กล่าวว่า การที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าส่งออกในปี 52 ที่ 19% คงต้องรอดูกันต่อไปว่าอุตสาหกรรมใดบ้างที่จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตสหรัฐ
นายสันติ กล่าวว่า สำหรับการหารือกับรมว.คลังในวันนี้ ส.อ.ท.จะเสนอแนวทางที่สำคัญ 8 ประเด็น ประกอบด้วย 1.แนวทางรับมือกับวิกฤติการเงินสหรัฐที่จะมีผลกระทบต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของโลก โดยรัฐบาลต้องเร่งดูแลสภาพคล่องทางการเงิน บริหารเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนให้เหมาะสมสอดคล้องกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งจัดการอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสมกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ
2.รัฐควรเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะเมกะโปรเจ็คต์ 3.เร่งกระตุ้นการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ 4. เร่งสร้างความเชื่อมั่นเพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ 5.ให้คงวงเงินธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) 3 หมื่นล้านบาทเพื่อช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมตามแนวทางรัฐบาล 6.ขอให้สนับสนุนการจัดตั้งกองทุนพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี) มูลค่าประมาณ 5 หมื่นล้านบาทอัตราดอกเบี้ยต่ำ
7.มาตรการช่วยเหลือด้านภาษี เช่น ควรพิจารณาลดภาษีรายได้นิติบุคคลให้เหลือ 20-25% จากปัจจุบัน 30 % , การเว้นภาษีการปรับโครงสร้างหนี้ , ยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าและอุปกรณ์ที่จะดูแลการรักษาสิ่งแวดล้อม และหักค่าใช้จ่ายเป็น 2 เท่า 8.ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลควรจะประสานงานกันและไปในทิศทางเดียวกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดูแลด้านเศรษฐกิจอย่างแท้จริง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ