รมว.คลัง หาช่องเจรจาทวิภาคีจีน--ญี่ปุ่น-เกาหลี ผลักดัน ASEAN NEW DEAL

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 3, 2008 11:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.คลัง หวังขายไอเดีย ASEAN NEW DEAL แก่จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี ผนึกกำลังหลายประเทศร่วมมือแก้ปัญหาสภาพคล่องในภูมิภาคจากผลพวงของวิกฤติการเงินในสหรัฐฯ ที่อาจจะลุกลามเข้ามาในอนาคต โดยจะใช้โอกาสหารือนอกรอบกับ รมว.คลังของประเทศดังกล่าว ในการประชุมประจำปีของธนาคารโลก(World Bank)ที่สหรัฐอเมริกา ในสัปดาห์หน้า
"เราพยายามจะเจอรัฐบาล และหน่วยงานต่างประเทศในภูมิภาคเพื่อให้คิดในกรอบใหญ่ขึ้น เพื่อดูแลแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องของโลก...จะเดินสายคุยเป็นคนๆ ไม่ได้คุยบนเวทีใหญ่ ว่าเราเป็นประเทศเล็กต้องจับไม้จับมือกับประเทศใหญ่ในภูมิภาคนี้ หรือองค์กรใหญ่ในภูมิภาคให้สามารถช่วยเหลือร่วมมือกันได้" นายสุชาติ กล่าวในรายการวิทยุเช้านี้
รมว.คลัง มองว่า ปัญหาภาคการเงินในสหรัฐฯ ที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ถือว่าน้อยมาก มีเพียงตลาดหุ้นไทยที่ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะเป็นผลกระทบที่เชื่อมโยงมาจากตลาดหุ้นทั่วโลก แต่ในปีหน้าคาดว่าจะมีผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกของไทย อันเป็นผลมาจากเศรษฐกิจของหลายประเทศต่างชะลอตัวลง
ดังนั้น สิ่งที่ภาครัฐจะต้องเร่งดำเนินการคือ การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ และเร่งการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆ ของภาครัฐ เพื่อให้เป็นส่วนที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทดแทนภาคการบริโภคและการลงทุนของเอกชนที่ชะลอตัว นอกจากนี้ แนวคิด ASEAN NEW DEAL ยังจะเป็นการร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อให้การแก้ปัญหาที่จะลุกลามมาจากสหรัฐฯ มีโอกาสประสบความสำเร็จได้ชัดเจนขึ้น
"เป็นการโชว์ไอเดีย คือโยนความคิดนี้ไปก่อนแล้วดูว่าใครจะคิดอย่างไร จะเปลี่ยนชื่อใหม่ก็ได้ ซึ่งในภูมิภาคนี้จะมีการขยายงบประมาณการคลังพร้อมๆ กัน ร่วมกัน เพราะเอกชนลดการบริโภค ลดการลงทุน การส่งออกกำลังจะลดลง... ดังนั้นมีภาครัฐที่ต้องขยาย แต่เราขยายเองมันได้ไม่เท่าไหร่ เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ แม่น้ำใหญ่ ต้องมีประเทศใหญ่ๆ มาช่วยกัน การคิดในรูปแบบนี้จะคิดแต่ในกรอบประเทศเรามันคิดไม่ออก เหมือนคนจนไม่มีสตางค์อยู่ในบ้านเล็กๆ ต้องไปติดต่อเพื่อนบ้านร่วมไม้ร่วมมือวางระบบกันอย่างไร จะคิดออกมากขึ้น" รมว.คลัง กล่าว
นายสุชาติ ยังกล่าวถึงกรณีการออกบาทบอนด์ของนักลงทุนต่างชาติว่าคงต้องเดินหน้าต่อไปในส่วนที่เหลือของปีนี้อีก 4.9 หมื่นล้านบาท โดยเชื่อว่าเม็ดเงินดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อปัญหาสภาพคล่องของไทย เพราะคิดเป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดที่ประมาณ 9 ล้านล้านบาท
"ประเมินแล้วว่าเมื่อเทียบกับขนาดของตลาด ถือว่าไม่เยอะ...การที่เรามีนโยบายและรับปากกับใครไว้ เราเลิกไม่ได้ อะไรที่ทำ ที่สัญญาต้องรักษาเครดิต เราไม่ควรไปแก้ไข เพราะบางคนอาจกำลังขออยู่ ทำขั้นตอนมาแล้ว เขาเสียสตางค์ในการทำเอกสารเพื่อมาขายพันธบัตรเหล่านี้ ก็ต้องให้ดำเนินการไป" รมว.คลัง ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ