ศูนย์วิจัยกสิกรฯคาดกนง.คงดอกเบี้ยอาร์/พี 3.75%หลังความเสี่ยงเงินเฟ้อลด

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 3, 2008 16:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในวันที่ 8 ตุลาคม 2551 กนง.อาจโน้มเอียงที่จะมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ขณะนี้อยู่ที่ 3.75% จากความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีความน่าวิตกกังวลลดน้อยลง 
แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยจะยังปรับตัวอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างสูง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปล่าสุดอยู่ที่ร้อยละ 6.0 (yoy) ในเดือนกันยายน 2551 และมีค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ 7.3 ในช่วงไตรมาสที่ 3/51 แต่อัตราเงินเฟ้อดังกล่าวก็ชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนและไตรมาสก่อนหน้า อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมราคาอาหารสดและพลังงาน ในเดือนกันยายน ก็ชะลอตัวลงเช่นกัน และมีระดับที่ต่ำกว่าเพดานกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท.ที่ร้อยละ 0-3.5 เป็นเดือนที่สองติดต่อกันด้วย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ภาวะน้ำท่วมและเทศกาลกินเจอาจทำให้ราคาสินค้าบางประเภทปรับตัวสูงขึ้นในเดือนตุลาคม แต่อัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีนี้อาจมีแนวโน้มชะลอตัวลงมาอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวลมากเท่าในอดีต หากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังมีแนวโน้มทรงตัวใกล้ระดับปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแรงกดดันเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มผ่อนคลายลง ก็น่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อภาวะค่าครองชีพของประชาชน ตลอดจนเอื้อให้ทางการไทยมีทางเลือกมากขึ้นในการดำเนินนโยบายเพื่อรับมือกับความผันผวนจากภายนอกประเทศ
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงระดับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะ 12 เดือนที่แท้จริง ที่ยังมีค่าติดลบอยู่ที่ร้อยละ 4.18 ในเดือนสิงหาคม 2551 และการที่ กนง.เพิ่งจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาในการประชุมสองรอบก่อนหน้า (16 กรกฎาคม และ 27 สิงหาคม) ก็อาจจะเป็นการเร็วเกินไปที่ กนง.จะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในการประชุมวันที่ 8 ตุลาคมนี้
นอกจากนี้ การที่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทยยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยเศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้ในอัตราที่น่าพอใจ ประกอบกับสถานะของสถาบันการเงินในประเทศก็ยังคงมีความแข็งแกร่ง รวมทั้งสภาพคล่องในระบบการเงินไทยก็ยังคงมีระดับที่ค่อนข้างสูงและไม่ได้อยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะประสบกับปัญหา ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ณ ขณะนี้ ผลกระทบจากปัญหาการเงินโลกต่อเศรษฐกิจไทยยังคงไม่รุนแรงถึงระดับวิกฤต
แต่อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์ทางด้านเครดิตในตลาดการเงินโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นปัจจุบัน ความอ่อนไหวและเปราะบางของเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ อาจนำมาสู่ความจำเป็นที่ธนาคารกลางของประเทศเหล่านั้น เช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจจำต้องพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างฉุกเฉินก่อนหน้าการประชุมตามวาระปกติ ซึ่งประเด็นความถดถอยลงของสถานการณ์ดังกล่าว ย่อมเป็นปัจจัยที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ และคงจะมีอิทธิพลต่อการให้น้ำหนักความเสี่ยงเพื่อพิจารณานโยบายอัตราดอกเบี้ยของ กนง.ในระยะถัดไปด้วยเช่นกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ