นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.ภัทร(PHATRA)กล่าวในหัวข้อ"ทิศทางการลงทุนในประเทศภายใต้การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจการเงิน"ว่า แม้จะมีมาตรการ 7 แสนล้านดอลลาร์ออกมาช่วยแก้ไขสถานะของสถาบันการเงินสหรัฐ แต่ทางการสหรัฐและยุโรปก็ยังจะต้องมีมาตรการหรือกลไกอื่น ๆ เข้ามาดูแลปัญหาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ระยะปานกลางเงินดอลลาร์ยังจะอ่อนค่าลงได้อีก
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบดังกล่าวคงไม่ได้ทำให้เงินบาทแข็งค่าไปมากนัก เพราะทางการคงจะต้องเข้ามาดูแลเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียหายต่อการส่งออกของไทย โดยมองว่าหากเงินบาทแข็งค่าแตะระดับ 33 บาท/ดอลลาร์ ทางธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ก็คงจะเข้ามาดูแล
ขณะที่การส่งออกคงเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดกับประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐ และปัญหาดังกล่าวยังอาจจะทำให้กองทุนต่าง ๆ ของต่างประเทศลดการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ก็จะส่งผลถึงทั้งการลงทุนในตลาดหุ้น และการลงทุนด่านอื่น ๆ ภายในประเทศ รวมทั้งการลงทุนในประเทศก็จะลดลง ท้ายที่สุดเศรษฐกิจโดยรวมก็จะชะลอตัวลง
ส่วนผลกระทบที่มีต่อสภาพคล่องนั้น ขณะนี้ยังไม่จะมีผลมากนัก แต่การที่เอกชนไทยไปกู้เงินระยะสั้นจากต่างประเทศรวมกันประมาณ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ อาจจะมีปัญหาหากต้องกู้เงินบาทเพื่อไปสวอปเป็นดอลลาร์ชำระคืนหนี้ แต่อาจจะส่งผลต่อสภาพคล่องในระยะสั้น
ด้านนายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.หลักทรัพย์ กิมเอ็ง (KEST) กล่าวว่า จากวิกฤติภาคการเงินของสหรัฐที่จะนำไปสู่เศรษฐกิจโลกถดถอย ย่องส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยและการเติบโตของการทำกำไรของบจ.
แต่ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยปี 51 ยังมีโอกาสขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 5% และการส่งออกขยายตัว 18% แต่ปี 52 เศรษฐกิจจะไม่สดใสแล้ว เนื่องจากมองแนวโน้มจากปัญหาของสหรัฐที่คาดการณ์ได้ยากว่าจะมีผลกระทบรุนแรงมากน้อยแค่ไหน โดยเชื่อว่าสหรัฐจะปรับลดดอกเบี้ยเพื่อรองรับศก.ชะลอตัว ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ผูกโยงกับเงินดอลลาร์จะปรับสูงขึ้นและส่งผลให้อัตราเร่งของเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นตาม
ในส่วนของตลาดหุ้นไทย มองว่าดัชนีตลาดหุ้นที่ลดลงมาจากต่างชาติเทขายหุ้น แต่พื้นฐานตลาดหุ้นไทยยังน่าลงทุน ทั้งนี้ KEST ได้ปรับลดเป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทยปีนี้เหลือ 700 จุด
--อินโฟเควสท์ โดย จารุวรรณ ไหมทอง/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--