กฟผ.เตรียมปรับแผนซื้อไฟฟ้าจากตปท.ใหม่ อนาคตจะกำหนดสัดส่วนซื้อเป็นรายปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday October 5, 2008 15:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายสมบัติ  ศานติจารี ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)  เปิดเผยว่า  กฟผ. อยู่ระหว่างการพิจารณาแผนการรับซื้อไฟฟ้าในต่างประเทศใหม่  เพื่อให้มีสัดส่วนที่เหมาะสมกับการผลิตไฟฟ้าในประเทศ  เนื่องจากในปัจจุบันมีหลายประเทศที่ กฟผ. มีแผนที่จะรับซื้อไฟฟ้า คือ ลาว  พม่า  กัมพูชา และแผนเดิมได้มีการกำหนดสัดส่วนไว้นานแล้ว จึงต้องมีการศึกษาความเหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้ การกระจายการรับซื้อไฟฟ้าจากหลายประเทศด้วยสัดส่วนที่เหมาะสม จะทำให้เกิดความมั่นคงขึ้นในระบบไฟฟ้าของประเทศไทย และเป็นการกระจายสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงให้มีความสมดุลมากขึ้น จากเดิมกำหนดสัดส่วนของการรับซื้อไฟฟ้าจาก 3 ประเทศไว้ ไม่เกินร้อยละ 25 ของกำลังการผลิต
แต่ในอนาคตจะแยกการกำหนดสัดส่วนเป็นรายประเทศ ซึ่งปัจจุบันไทยมีข้อตกลง (เอ็มโอยู) รับซื้อไฟฟ้าจากลาว 7,000 เมกะวัตต์ พม่า 1,500 เมกะวัตต์ จีน 3,000 เมกะวัตต์ และกัมพูชา มีข้อตกลงความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้า แต่ยังไม่ได้ระบุปริมาณซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งโรงไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่จ่ายไฟฟ้าให้ กฟผ. แล้ว คือ น้ำเทิน-หินบุน 220 เมกะวัตต์ ห้วยเฮาะ 126 เมกะวัตต์ และมาเลเซีย 300 เมกะวัตต์ รวมทั้งหมด 464 เมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ ร้อยละ 2 ของกำลังการผลิตทั้งหมด
ส่วนโครงการที่ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คือ น้ำเทิน 2 ขนาด 920 เมกะวัตต์ น้ำงึม 2 ขนาด 615 เมกะวัตต์ และ น้ำเทิน-หินบุน ส่วนขยาย 220 เมกะวัตต์ รวมโครงการที่จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เข้าระบบของ กฟผ. และโครงการที่ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ทั้งหมด 2,401 เมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6 ของกำลังการผลิต นอกจากนี้ยังมีการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการน้ำงึม 1 ขนาด 150 เมกะวัตต์ น้ำลำ 60 เมกะวัตต์ และเซเสด 45 เมกะวัตต์ สำหรับแผนรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านในอนาคต ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นไป จะรับซื้อปีละประมาณ 400-700 เมกะวัตต์
ขณะที่โครงการที่มีเอ็มโอยูกับ กฟผ. แล้ว แต่เอ็มโอยูได้หมดอายุไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ 2 โครงการ คือ โครงการน้ำเทิน 1 และน้ำงึม 3 และยังมีโครงการ น้ำเงี้ยบ น้ำอู และหงสาลิกไนต์ ได้ขอยกเลิกเอ็มโอยู เนื่องจากมีปัญหาต้นทุนค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 25-30 ทำให้ไม่สามารถที่จะขายไฟฟ้าในราคาเดิมได้ ต้องมีการเจรจาค่าไฟฟ้ากับ กฟผ.ใหม่ ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะรับซื้อในโครงการเหล่านี้อีกหรือไม่ โดยจะต้องดูที่ค่าไฟฟ้าเป็นหลักไม่ให้สูงเกินไป และยังต้องมีการทบทวนสูตรการปรับค่าไฟฟ้าใหม่ เพื่อให้มีหลักเกณฑ์ที่ป้องกันความเสี่ยงจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่มีความผันผวนสูงในอนาคตด้วย
นอกจากนี้ ยังมีการปรับแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าในอนาคตใหม่ โดยได้ศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้วอยู่ระหว่างรอการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าใหม่นี้ จะปรับลดอัตราการเติบโตของการใช้ไฟฟ้าน้อยลงกว่าเดิมที่มีการคาดการณ์ไว้ โดยในปีนี้จะเติบโต ประมาณร้อยละ 3 จากที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโตร้อยละ 5.5

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ