ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุชแห่งสหรัฐมั่นใจว่า แผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์จะสามารถผ่อนคลายวิกฤการณ์ด้านสินเชื่อ แต่ยอมรับว่าอาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่งก่อนที่แผนฟื้นฟูภาคการเงินจะส่งผลบวกให้เห็นต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐ
ประธานาธิบดีบุชเพิ่งลงนามในมาตรการฟื้นฟูภาคการเงินในวงเงิน 7 แสนล้านดอลลาร์เพื่อรับรองมาตรการดังกล่าวให้บังคับใช้เป็นกฎหมายเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา พร้อมกล่าวว่ารัฐบาลจะนำกฎหมายฉบับนี้มาใช้อย่างระมัดระวัง และตั้งเป้าที่จะผ่อนคลายวิกฤติสินเชื่อ ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินโลก
"เราจำเป็นต้องแก้ไขสถานการณ์ทางการเงิน รัฐสภาได้ดำเนินขั้นตอนสำคัญด้วยการผ่านกฎหมายทางการเงินที่เป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นให้แก่เราในการนำเสถียรภาพกลับคืนมาสู่ตลาด ผมเชื่อว่านอกจากมาตรการนี้จะตอบสนองต่อความจำเป็นอย่างเร่งด่วนของระบบการเงินของเราแล้ว มาตรการนี้ยังช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐในระยะยาวด้วย" บุชกล่าวกับผู้สื่อข่าว
สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ หรือ สภาคองเกรส ลงมติอนุมัติร่างกฎหมายฟื้นฟูภาคการเงินฉบับปรับปรุงใหม่วงเงิน 7 แสนล้านดอลลาร์ ด้วยคะแนนเสียง 263 ต่อ 171 เสียง ในการประชุมเมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยร่างกฎหมายฉบับใหม่ที่ได้รับการแก้ไขแล้วนี้ได้มีการเพิ่มเติมเนื้อหาบางส่วน ซึ่งรวมถึงการเพิ่มค้ำประกันวงเงินฝากธนาคารที่ได้รับการค้ำประกันโดยบรรษัทประกันเงินฝากแห่งสหรัฐ (FDIC) จากเดิมที่ 100,000 ดอลลาร์ เป็น 250,000 ดอลลาร์ และจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในมาตรการลดหย่อนภาษีมูลค่า 1.49 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนทั่วไป
หลังจากสภาคองเกรสอนุมัติร่างกฎหมายฟื้นฟูภาคการเงินได้ไม่นาน ประธานาธิบดีบุชได้ลงนามผ่านร่างให้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายอย่างเป็นทางการ โดยบุชกล่าวให้สัมภาษณ์ว่า "ที่ผ่านมาเราผลักดันร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวอย่างจริงจังเพื่อปกป้องเศรษฐกิจให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์ที่รุนแรง ภาวะสินเชื่อตึงตัวกำลังคุกคามเศรษฐกิจของเรา และเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาที่เกิดขึ้นในวอลล์สตรีทลุกลามเข้าไปในภาคส่วนอื่นๆของระบบเศรษฐกิจ" สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--