ตลาดหุ้นนิวยอร์กส่อเค้าผันผวนสัปดาห์นี้ หลังตัวเลขจ้างงานสหรัฐดิ่งเหว,นลท.ไม่มั่นใจแผนฟื้นฟู

ข่าวต่างประเทศ Monday October 6, 2008 06:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นักวิเคราะห์ในตลาดวอลล์สตรีทคาดการณ์ว่า ตลาดหุ้นนิวยอร์กจะเคลื่อนตัวผันผวนและไร้ทิศทางในสัปดาห์นี้ หลังจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานที่ลดลงเกินความคาดหมาย ขณะที่จับตาดูว่าแผนฟื้นฟูภาคการเงินที่สภาคองเกรสสหรัฐอนุมัติไปเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมานั้น จะสามารถผ่อนคลายวิกฤตการณ์ด้านสินเชื่อได้มากน้อยเพียงใด 
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตร (non farm payroll) ประจำเดือนก.ย.ของสหรัฐ ร่วงลงหนักสุดในรอบกว่า 5 ปี ที่ 159,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นสถิติการรายงานตัวเลขจ้างงานที่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน ส่วนอัตราว่างงานอยู่ในระดับ 6.1% ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่า สหรัฐจะรายงานตัวเลขจ้างงานที่ลดลง 100,000 ตำแหน่ง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจุดชนวนให้เกิดความวิตกกังวลว่า เศรษฐกิจจะยิ่งถดถอยเร็วขึ้น
ตัวเลขจ้างงานสหรัฐที่ร่วงลงอย่างรุนแรงในเดือนก.ย.นี้ตอกย้ำให้เห็นถึงภาวะล่มสลายในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่กินเวลายืดเยื้อยาวนาน และวิกฤตการณ์สินเชื่อที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น จนส่งผลให้ตลาดวอลล์สตรีทและเศรษฐกิจเผชิญความปั่นป่วนวุ่นวาย
สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ หรือ สภาคองเกรส ลงมติอนุมัติร่างกฎหมายฟื้นฟูภาคการเงินฉบับปรับปรุงใหม่วงเงิน 7 แสนล้านดอลลาร์ ด้วยคะแนนเสียง 263 ต่อ 171 เสียง ในการประชุมเมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา และหลังจากสภาคองเกรสอนุมัติร่างกฎหมายฟื้นฟูภาคการเงินได้ไม่นาน ประธานาธิบดีบุชได้ลงนามผ่านร่างให้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายอย่างเป็นทางการ
หลังจากสภาคองเกรสมีมติอนุมัติแผนฟื้นฟูภาคการเงินเมื่อวันศุกร์ ในฝากยุโรปก็ออกมาเคลื่อนไหวในช่วงสุดสัปดาห์เช่นกัน โดยประธานาธิบดีซาร์โกซีเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมกลุ่มผู้นำประเทศยุโรป โดยมีผู้นำเยอรมนี อังกฤษ อิตาลี เข้าร่วมประชุม นอกจากนี้ ยังมีนายโฮเซ มานุเอล บาร์รอสโซ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป และนายฌอง-คล้อด ทริเชต์ ประธานธนาคารกลางยุโรป เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ด้วย โดยมีการหารือเกี่ยวกับภาวะผันผวนในตลาดการเงินทั่วโลกที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และวิกฤตการณ์การเงินที่กำลังลุกลามเข้าสู่ยุโรปในเวลานี้
โดมินิก สเตราส์-คาห์น ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แนะนำให้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ร่วมมือกันใช้มาตรการรับมือกับวิกฤตการณ์ด้านการเงิน
"สิ่งที่ยุโรปจำเป็นต้องมีในเวลานี้คือ 'การร่วมมือกัน' ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม และผมขอแนะนำว่าอย่าดำเนินการเพียงลำเพียง แต่ให้ดำเนินการโดยร่วมมือกัน เพราะวิกฤตการณ์ด้านการเงินลุกลามเข้าสู่ยุโรปแล้ว" ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟกล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังเข้าพบกับนายนิโคลาส์ ซาร์โกซี ประธานาธิบดีฝรั่งเศสที่กรุงปารีส
ขณะที่ ไมเคิล กลอส รัฐมนตรีเศรษฐกิจเยอรมนี ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่า สหภาพยุโรป (อียู) ควรใช้แผนกู้วิกฤติการเงินแบบเดียวกับสหรัฐ หลังจากวิกฤติการเงินในสหรัฐลุกลามเข้าสู่ยุโรป
"เราควรจะสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นในระบบการธนาคารของยุโรป แทนที่จะพิจารณาหาทางร่างแผนกู้วิกฤติการเงินในยุโรปขึ้นมา แต่ต้นตอของปัญหาคือการขาดความเชื่อมั่นในระบบการธนาคาร จึงส่งผลให้เกิดวิกฤติการณ์ทางการเงินขึ้น ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่นายธนาคารที่ได้รับเงินเดือนสูงมากๆ จะต้องทำงานให้คุ้มกับเงินเดือนที่ได้รับ แต่การออกากเรียกรัองให้รัฐบาลเอาเงินภาษีอากรของประชาชนมากอบกู้กิจการของธนาคารที่ประสบปัญหา ดูจะเป็นการกระทำที่เอาเปรียบประชาชนไม่น้อย" กลอสกล่าว
ด็อจ โรเบิร์ต นักวิเคราะห์จาก ChannelCapitalResearch.com กล่าวว่า "ทั่วโลกมีปฏิกริยาต่อแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ของสหรัฐที่แตกต่างกันไป แม้แต่ในตลาดหุ้นนิวยอร์กเองนักลงทุนก็มองเรื่องนี้ต่างกัน โดยส่วนใหญ่ไม่มั่นใจว่า แผนดังกล่าวจะช่วยให้เศรษฐกิจรอดพ้นจากภาวะถดถอยเนื่องจากสถานการณ์ในตลาดสินเชื่อยังคงตึงตัว ซึ่งส่งผลให้ดัชนีดาวโจนส์ปิดร่วงลง 157.47 จุด หรือ 1.50% แตะที่ 10,325.38 จุดเมื่อวันศุกร์ ส่วนในยุโรปเองก็มีการหารืออย่างเร่งด่วนถึงเรื่องการใช้มาตรการแก้ไขวิกฤตการณ์ด้านการเงินที่ลุกลามเข้าไปในยุโรป" สำนักข่าวเอพีรายงาน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ