นักวิเคราะห์หวั่นภาวะเงินฝืดกระทบศก.รุนแรงกว่าเงินเฟ้อ เตือนอาจฉุดราคาสินค้าโภคภัณฑ์ร่วงหนัก

ข่าวต่างประเทศ Monday October 6, 2008 10:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นักวิเคราะห์ในแวดวงตลาดสินค้าโภคภัณฑ์แสดงความเห็นว่า ขณะที่เบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และคณะกรรมการเฟดร่วมมือกันสกัดกั้นวิกฤตการณ์ด้านการเงินที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1930 นั้น แต่สัญญาณอันตรายด้านหนึ่งที่ธนาคารกลางทั่วโลกไม่ควรมองข้ามคือ "ภาวะเงินฝืด (deflation)" ที่กำลังลุกลามจนน่ากลัว ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ฉุดราคาสินค้าโภคภัณฑ์ร่วงลง 
โจร์ก เครเทอร์ หัวหน้านักวิเคราะห์จาก Commerzbank AG กล่าวว่า "เราคาดว่าภาวะเงินฝืดจะฉุดรั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์ให้ทรุดตัวลงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ภาวะเงินเฟ้อเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความวิตกกังวลให้กับคณะกรรมการเฟด ภายหลังจากราคาน้ำมันและอาหารทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุด "
ภาวะสินเชื่อที่ตึงตัวอย่างหนักกำลังทำให้ชาวญี่ปุ่นหวนนึกถึงภาวะเงินฝืดที่เกิดขึ้นอย่างยืดเยื้อยาวนานในญี่ปุ่นช่วงทศวรรษที่ 1990 ซึ่งสถานการณ์สินเชื่อที่ตึงตัวในปัจจุบันอาจบีบให้นายฌอง-คล้อด ทริเชต์ ประธานธนาคารกลางยุโรป และนายเมอร์วิน คิง ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ ใช้มาตรการเหมือนกับเบอร์นันเก้ เพื่อยับยั้งวิกฤตการณ์ด้านการเงิน
ขณะที่ โทนี่ ตัน รองประธานบรรษัทเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ กล่าวว่า "วงจรเงินฝืดเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง"
ราคาสินค้าแทบจะทุกประเภทร่วงลงทั่วโลก โดยเมื่อปีที่แล้วราคาบ้านดิ่งลงกว่า 10% ในอังกฤษและสหรัฐ ขณะที่การร่วงลงของราคาน้ำมัน ทองแดง ข้าวโพด ได้ฉุดราคาสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอื่นๆร่วงลงอย่างหนักเมื่อวันศุกร์ที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยดัชนี Reuters/Jefferies CRB Index ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดสินค้าโภคภัณฑ์ 19 ประเภท ทรุดตัวลง 10.4% และดัชนี BDI ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดต้นทุนการเดินเรือขนส่งสินค้าโภคภัณฑ์ ร่วงลง 75% นับตั้งแต่เดือนพ.ค.เป็นต้นมา
เดวิด โอเวน หัวหน้านักวิเคราะห์จาก Dresner Kleinwort Group กล่าวว่า "เรากังวลเรื่องเงินฝืดมากกว่าเงินเฟ้อ เรามองว่าธนาคารกลางทั่วโลกควรลดอัตราดอกเบี้ยลงและตรึงไว้ที่ระดับเดิมสักระยะหนึ่งก่อน" สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ