ที่ประชุมรัฐมนตรีคลังยุโรปยังไม่สามารถตกลงกันได้เรื่องการใช้มาตรการพยุงภาคการธนาคาร ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากผู้นำประเทศยุโรปให้คำมั่นสัญญาว่า จะทำทุกวิถีทางที่จะฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา หลังจากตลาดหุ้นยุโรปดิ่งลงหนักสุดนับตั้งแต่พ.ศ.2530
ในการประชุมครั้งนี้ซึ่งจัดขึ้นที่ลักเซมเบิร์ก มีเพียงรัฐมนตรีฝรั่งเศสและอิตาลีเท่านั้นที่สนับสนุนให้ชาติยุโรปกำหนดมาตรการพยุงภาคการเงินคล้ายกับในสหรัฐ
นายซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี นายกรัฐมนตรีอิตาลี และนางคริสทีน ลาการ์ด รมว.คลังฝรั่งเศส แนะนำว่า ชาติยุโรปควรใช้มาตรการฟื้นฟูภาคการเงินแบบเดียวกับที่สหรัฐประกาศใช้แผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ แต่การประชุมรมว.คลังยุโรปจบลงทั้งๆที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ในเรื่องนี้ นอกเหนือจากการให้คำมั่นสัญญาว่าจะปกป้องเงินฝากของประชาชน
นายฌอง-คล้อด จังเกอร์ รมว.คลังลักเซมเบิร์ก กล่าวว่า "เราทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าจะทำทุกวิถีทางที่จะหลีกเลี่ยงภาวะล่มสลายในระบบการเงิน เราจึงออกมาตรการปกป้องเงินฝากของประชาชนในยุโรป"
การประชุมรมว.คลังทั่วยุโรปถือเป็นการประชุมฉุกเฉินที่มีขึ้นหลังจากวิกฤตการณ์ด้านการเงินลุกลามเข้าสู่ยุโรป โดยดัชนี Europe's Dow Jones Stoxx 600 Index ทรุดตัวลงหนักสุดในรอบ 20 ปีเมื่อวานนี้ และฉุดค่าเงินยูโรร่วงลงต่ำระดับ 1.35 ยูโรต่อดอลลาร์เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 1 ปี
ปีเตอร์ ดิ๊กซอน นักวิเคราะห์จาก Commerzbank AG กล่าวว่า "สิ่งที่ผมบอกได้ในเวลานี้ก็คือ รมว.คลังยุโรปต่างมีความคิดเห็นเป็นของตนเองและต่างก็อยากจะให้ความคิดเห็นของตนเองได้รับการยอมรับ ผลการประชุมครั้งนี้ถือว่า 'คว้าน้ำเหลว' เพราะมีเพียงแต่การใช้นโยบายปกป้องเงินฝากของประชาชาน สถานการณ์ในเวลานี้ยังไม่ได้กระทบถึงผู้ฝากเงิน แต่ระบบการธนาคารต่างหากที่กำลังจะพังทั้งระบบ" สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--