นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ยื่นหนังสือถึงรมว.เกษตรและสหกรณ์ เรียกร้องให้ภาครัฐหันมาเข้มงวดตรวจสอบการนำเข้าเครื่องในสุกรให้มากขึ้น เนื่องจากขณะนี้มีการนำเข้าเครื่องในสุกรจากต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย เกาหลีใต้และเดนมาร์ก เข้ามาจำหน่ายภายในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อตลาดภายในประเทศ เป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ซ้ำเติมภาวะราคาที่กำลังตกต่ำในขณะนี้
ในช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค.- ก.ค.) ปี 51 มีตัวเลขการนำเข้าเครื่องในสุกรถึง 7,600 ตัน เทียบช่วงเดียวกัน ปี 50 ไทยนำเข้าเครื่องใน 6,000 ตัน เพิ่มขึ้นถึง 26% ส่งผลกระทบไปยังเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ทำให้ระดับราคาเนื้อสุกรตกต่ำ
ที่สำคัญในบางประเทศยังมีการใช้สารเบต้าอะโกรนิสต์ในการเลี้ยงสุกร ดังนั้น จึงเป็นเรื่องน่ากังวลว่าเครื่องในหมูนำเข้าจะมีการปนเปื้อนสารดังกล่าวเข้ามาด้วย ซึ่งหากมีการตรวจพบสารเบต้าอะโกรนิสต์ในผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรจากไทย จะเป็นความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่ออุตสาหกรรมสุกรของประเทศไทย
ทั้งนี้ สมาคมฯ ได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาใน 3 ประเด็นหลัก คือ ขอให้กรมปศุสัตว์ระงับการอนุมัตินำเข้าเครื่องในสุกรเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี เพื่อพิสูจน์ว่าผู้เลี้ยงสุกรของไทยสามารถผลิตครื่องในสุกรได้อย่างเพียงพอสำหรับบริโภคภายในประเทศ ไม่ได้ขาดแคลนเช่นในอดีต โดยสมาคมฯยืนยันว่าราคาเครื่องในสุกรจะไม่สูงกว่าปกติ
นอกจากนี้ ขอให้ผู้นำเข้าทั้ง 10 บริษัท ได้แก่ บจก.พงศ์ศิริ อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต (ประเทศไทย), บจก.แท็คทัส อินเตอร์เนชั่นแนล, บจก.สี่ เค ดีเลอร์ 2004, หจก.ป.นำเจริญ ซัพพลาย, บจก.ปรีชา อินเตอร์ฟู้ด, บจก.คิง บุทเชอร์, หจก.พัฒนายั่งยืนเทรดดิ้ง, หจก.ปานนท์ เทรดดิ้ง, บจก.ป.เจริญซีฟู้ด และ บจก.ไปโกปัน (ประเทศไทย) ยุติการนำเข้าเครื่องในสุกร เพื่อคงความอยู่รอดของอุตสาหกรรมสุกรไทยทั้งระบบ
และ ขอความร่วมมือโรงงานแปรรูปเนื้อสุกร เช่น โรงงานไส้กรอก กุนเชียง ให้งดใช้เครื่องในนำเข้ามาเป็นวัตถุดิบในการผลิต เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคชาวไทย
"ภายใน 1 เดือนนับจากนี้ หากภาครัฐยังคงเฉยเมยต่อความเดือดร้อนดังกล่าว เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศก็จะรวมตัวกันมาขอความเป็นธรรมถึงที่กระทรวงเกษตรฯ ทันที"นายสุรชัย กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย เสาวลักษณ์ อวยพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--