เบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้กล่าวสุนทรพจน์ที่สมาคมเศรษฐกิจแห่งชาติของสหรัฐเมื่อคืนนี้ โดยเตือนว่า วิกฤตการณ์ด้านการเงินที่เกิดขึ้นในขณะนี้ไม่เพียงแต่จะสกัดกั้นการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐเท่านั้น แต่ยังจะฉุดรั้งเศรษฐกิจให้ถดถอยอย่างยาวนานด้วย
"เฟดจะพิจารณาดูว่าการที่เฟดยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยประเภทระยะสั้น (fed fund rate) ไว้ที่ 2.00% ในปัจจุบันนั้นสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันหรือไม่ หลังจากสหรัฐต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ด้านการเงินที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี ในช่วงหลายไตรมาสที่ผ่านมาเศรษฐกิจสหรัฐอ่อนแอลงมาก"
"กิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐมีแนวโน้มถดถอยลงในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของปีนี้และอาจยืดเยื้อไปจนถึงปีหน้า วิกฤตการณ์ด้านการเงินที่รุนแรงในขณะนี้อาจจะยิ่งฉุดรั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ทรุดตัวลงอีก และทำให้ปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นด้วย" เบอร์นันเก้เตือน
เบอร์นันเก้ยังกล่าวด้วยว่า "ผู้บริโภคซึ่งมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขาดความเชื่อมั่นอย่างรุนแรงหลังจากอัตราว่างงานของสหรัฐพุ่งสูงขึ้น นอกจากนี้ วิกฤตการณ์ด้านสินเชื่อยังส่งผลให้ผู้บริโภคเข้าถึงเงินกู้ได้ยาก ขณะที่ราคาบ้านปรับตัวลง และดัชนีตลาดหุ้นร่วงลงอย่างหนัก"
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐประจำเดือนก.ย.ร่วงลงหนักสุดในรอบกว่า 5 ปีที่ 159,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นสถิติการรายงานตัวเลขจ้างงานที่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน ส่วนอัตราว่างงานอยู่ในระดับ 6.1%
ส่วนในประเด็นเงินเฟ้อนั้น เบอร์นันเก้กล่าวว่า "ตัวเลขเงินเฟ้อในสหรัฐยังคงอยู่ในระดับสูงแม้เศรษฐกิจในสหรัฐและประเทศอื่นๆชะลอตัวลงก็ตาม ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะราคาพลังงาน อาหาร และสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอื่นๆพุ่งสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ผมคาดว่าตัวเลขเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับปานกลางในอีก 2-3 ไตรมาสข้างหน้านี้"
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า การแสดงความคิดเห็นครั้งล่าสุดของเบอร์นันเก้ถือเป็นการส่งสัญญาณว่า เฟดเตรียมลดอัตราดอกเบี้ยเร็วๆนี้ หรืออาจจะก่อนการประชุมเฟดวันที่ 28-29 ต.ค.นี้ เพื่อยับยั้งเศรษฐกิจไม่ให้ถดถอย
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า เฟดซึ่งได้รับอำนาจภายใต้กฏหมายฟื้นฟูภาคการเงินที่สภาคองเกรสเพิ่งอนุมัติไปเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ประกาศมาตรการแก้ปัญหาวิกฤตการเงิน ซึ่งครอบคลุมถึงการจัดตั้งวงเงินพิเศษเพื่อซื้อตราสารเชิงพาณิชย์หรือตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้น ซึ่งเป็นเครื่องมือการลงทุนที่บริษัทเอกชนนำออกจำหน่าย เพื่อหาเงินมาใช้ในการดำเนินธุรกิจรายวัน และการปล่อยกู้แบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อปล่อยสินเชื่อเข้าไปในระบบอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ เฟดจะเริ่มจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร และเพิ่มการปล่อยกู้แก่ธนาคารเป็น 900,000 ล้านดอลลาร์ภายในสิ้นปี เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง
อย่างไรก็ตาม มาตรการครั้งล่าสุดของเฟดไม่สามารถคลี่คลายความวิตกกังวลของนักลงทุนในตลาดหุ้นนิวยอร์กได้ โดยเมื่อคืนนี้ดัชนีดาวโจนส์ปิดทรุดลง 508.39 จุด หรือ 5.11% แตะที่ 9,447.11 จุด เนื่องจากนักลงทุนมองว่าความพยายามของเฟดและรัฐบาลสหรัฐยังไม่มากพอที่จะคลี่คลายวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ได้
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--