กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เปิดเผยว่า ธนาคารชั้นนำหลายแห่งทั่วโลกอาจต้องการเงินทุนอีก 6.75 แสนล้านดอลลาร์ในช่วงหลายปีข้างหน้า เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้นจากวิกฤตสินเชื่อที่เริ่มมีสัญญาณบ่งชี้ที่ดีขึ้นบ้างแล้ว
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ไอเอ็มเอฟได้ปรับเพิ่มประมาณการณ์ตัวเลขขาดทุนที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์และเงินกู้อสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐสู่ระดับ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐจากเดิมที่ประมาณการณ์ไว้ในระดับ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ในเดือนเม.ย. ไอเอ็มเอฟคาดว่ายอดขาดทุนจะอยู่ที่ 9.45 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
รายงานของไอเอ็มเอฟระบุว่า "สถานการณ์ตึงเครียดในระบบการเงินทั่วโลกอาจทำให้เศรษฐกิจโลกเผชิญช่วงขาลงที่ฝังรากลึกและฟื้นตัวได้ยาก ซึ่งความเสี่ยงจะเกิดขึ้นเป็นวัฎจักรระหว่างระบบการเงินและเศรษฐกิจที่เผชิญภัยคุกคามเป็นวงกว้าง
ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟได้เรียกร้องให้ประเทศต่างๆร่วมกันหามาตรการรับมือที่เหมาะสม โดยให้เงินทุนสาธารณะเพื่อชดเชยกับสินทรัพย์ที่มีปัญหาและสร้างความเชื่อมั่นว่า ทางการจะยื่นมือเข้าแทรกแซงตลาดเป็นการชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งคาดว่ายอดเงินทุนภาคสาธารณะที่นำมาใช้ซื้อสินทรัพย์เพื่อแก้วิกฤตสินเชื่อที่อยู่ที่ระดับ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
วิกฤตสินเชื่อทั่วโลกจะถูกหยิบยกขึ้นเป็นวาระสำคัญในการประชุมประจำปีเมื่อรัฐมนตรีคลังและเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลายแห่งเข้าร่วมประชุมประจำปีในวันที่ 10 ต.ค.นี้กับทางไอเอ็มเอฟและธนาคารกลางโลก
ไอเอ็มเอฟระบุว่า ยอดขาดทุนและปรับลดมูลค่าทางบัญชีทั่วโลกตั้งแต่ต้นปี 2550 จะมีจำนวน 5.861 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต่ำกว่าเงินทุนทั้งหมดที่ 4.33 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และสถาบันการเงินที่ถูกรุมเร้าด้วยปัญหาสินทรัพย์ขาดสภาพคล่องจะมีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งเม็ดเงินช่วยเหลือจากประชาชนและภาคเอกชนมากขึ้น
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย อรษา สงค์พูล/รัตนา โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--