นักวิเคราะห์ในตลาดวอลล์สตรีทแสดงความเห็นว่า การที่นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศใช้มาตรการแก้ปัญหาวิกฤตการเงินและส่งสัญญาณว่าเฟดพร้อมที่จะลดอัตราดอกเบี้ยนั้น ไม่สามารถทำให้นักลงทุนเชื่อว่าความพยายามดังกล่าวของเฟดจะช่วยกระตุ้นตัวเลขจ้างงานและอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้นได้
โดมินิก คอนสแทม หัวหน้านักวิเคราะห์จาก Credit Suisse Group ในนิวยอร์ก กล่าวว่า "เบอร์นันเก้และคณะกรรมการเฟดเข้าใจวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ แต่เฟดไม่สามารถจะยับยั้งวิกฤตการณ์และลงมือทำงานได้ไม่เร็วพอที่จะสกัดกั้นวิกฤตการณ์ที่จะเกิดขึ้นในครั้งต่อไปได้"
ขณะที่โทนี เครสเซนซี นักวิเคราะห์จากบริษัท Miller Tabak & Co.กล่าวว่า "การที่เฟดอัดฉีดสภาพคล่องจำนวนมากเข้าสู่ระบบการเงินในช่วงที่ผ่านมา ไม่ได้ช่วยให้นักลงทุนคลายความกังวลได้ เพราะนักลงทุนจำนวนมากมองว่าถึงเวลาแล้วที่เฟดควรจะลดอัตราดอกเบี้ย เรามองว่าการลดอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.75% น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเพราะจะช่วยให้สถาบันการเงินต่างๆเก็บเกี่ยวส่วนต่างระหว่างต้นทุนการระดมทุนกับอัตราผลตอบแทนที่ได้รับ"
คริสโตเฟอร์ รัพคีย์ หัวหน้านักวิเคราะห์จาก Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ กล่าวว่า "การขาดความเชื่อมั่นและความหวาดกลัวที่ว่าจะมีสถาบันการเงินล้มละลายอีก ทำให้สถาบันการเงินไม่กล้าปล่อยกู้ในตลาดอินเตอร์แบงค์ ในด้านนักลงทุนเองก็ขาดความเชื่อมั่นจนถึงขนาดไม่ขานรับมาตรการช่วยเหลือสถาบันการเงินที่เฟดประกาศเมื่อคืนนี้"
เมื่อวานนี้ เฟดประกาศมาตรการแก้ปัญหาวิกฤตการเงิน ซึ่งครอบคลุมถึงการจัดตั้งวงเงินพิเศษเพื่อซื้อตราสารเชิงพาณิชย์หรือตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้น และปล่อยกู้แบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อปล่อยสินเชื่อเข้าไปในระบบอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ เฟดจะเริ่มจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร และเพิ่มวงเงินปล่อยกู้แก่ธนาคารเป็น 900,000 ล้านดอลลาร์ภายในสิ้นปี เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง
อย่างไรก็ตาม มาตรการครั้งล่าสุดของเฟดไม่สามารถคลี่คลายความวิตกกังวลของนักลงทุนในตลาดหุ้นนิวยอร์กได้ โดยเมื่อคืนนี้ดัชนีดาวโจนส์ปิดทรุดลง 508.39 จุด หรือ 5.11% แตะที่ 9,447.11 จุด เนื่องจากนักลงทุนมองว่าความพยายามของเฟดและรัฐบาลสหรัฐยังไม่มากพอที่จะคลี่คลายวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ได้ สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--