จัสติน หยีฟู หลิน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกกล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า ทั่วโลกควรนำวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นในขณะนี้มาใช้เป็นบทเรียนเพื่อรับมือกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจในอนาคต
บทเรียนข้อแรกคือ ปัญหาฟองสบู่แตกในธุรกิจเทคโนโลยีนำไปสู่ภาวะวิกฤตในตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยวิกฤตการเงินครั้งนี้ทำให้รัฐบาลสหรัฐต้องลงมือแก้ปัญหามากกว่าช่วงที่เกิดภาวะฟองสบู่แตกในยุคที่อินเทอร์เน็ตเฟื่องฟูเมื่อปี 2541
โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 1% จากระดับ 5.5% และตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับดังกล่าวไว้เป็นเวลา 3 ปี หลังผ่านพ้นยุคทองของธุรกิจอินเทอร์เน็ตและหลังเกิดเหตุวินาศกรรมสหรัฐเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2544
"เฟดกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์และฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เผชิญภาวะชะลอตัวด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย " ดร.หลินกล่าว
"อย่างไรก็ตาม ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังเป็นรากเหง้าที่ทำให้ตลาดเงินเผชิญภาวะซบเซาอย่างเช่นทุกวันนี้ และภาวะฟองสบู่แตกในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีขอบเขตกว้างกว่าภาวะฟองสบู่แตกในธุรกิจอินเทอร์เน็ต ได้กระตุ้นให้เกิดปัญหาต่างๆมากมาย"
บทเรียนข้อสองคือ ทั่วโลกต้องเรียนรู้วิกฤตการเงินอันเป็นปัญหาที่มาจากการพัฒนาด้านธุรกิจการเงินในสหรัฐซึ่งมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่มีจุดอ่อนที่ข้อบังคับและกฎเกณฑ์ต่างๆซึ่งยังล้าหลังอยู่มาก และภาวะเช่นนี้เหมือนเป็นการเติมเชื้อไฟโดยไม่มีการควบคุมดูแลสถานการณ์จนทำให้ปัญหาความเลวร้ายบานปลายมากขึ้น
ทั้งนี้ ดร.หลินกล่าวว่า แม้ทำเนียบขาวและเฟดจะบังคับใช้กฎหมายฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐมาใช้เพื่อแก้วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น แต่แนวโน้มเศรษฐกิจยังคงไม่มีความชัดเจนขึ้นมาแต่อย่างใด
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย อรษา สงค์พูล/ปนัยดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 323 อีเมล์: panaiyada@infoquest.co.th--