ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ไทยและต่างชาติ 7 แห่ง ร่วมปล่อยกู้โครงการขยายกำลังผลิตไฟฟ้าเขื่อนเทินหินบุน สปป.ลาว มูลค่ารวม 585.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในไทยและ สปป.ลาว โดย 95% ของไฟฟ้าที่ผลิตได้จะขายให้แก่ กฟผ.
นายอภิชัย บุญธีรวร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า ธสน.ได้ให้การสนับสนุนทางการเงิน ทั้งสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินบาท โดยปล่อยกู้เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐจำนวน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐร่วมกับ Australia & New Zealand Banking Group Ltd. (ANZ), KBC Bank และ BNP Paribas ของฝรั่งเศส
และปล่อยกู้สกุลเงินบาทจำนวน 1,750 ล้านบาท ร่วมกับธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารนครหลวงไทย (SCIB) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) และธนาคารธนชาต ให้แก่บริษัท เทินหินบุน เพาเวอร์ จำกัด เพื่อสนับสนุนโครงการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าเขื่อนเทินหินบุน สปป.ลาว
วัตถุประสงค์เพื่อให้บริษัท เทินหินบุน เพาเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างการไฟฟ้าแห่ง สปป.ลาว (Electricit du Laos : EdL), Nordic Hydropower AB ของนอร์เวย์ และบริษัท จี เอ็ม เอส ลาว จำกัดของไทย นำไปใช้ขยายกำลังผลิตไฟฟ้าของเขื่อนเทินหินบุนใน สปป.ลาว จาก 210 เมกะวัตต์ (MW) เป็น 500 MW โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้ 440 MW จะขายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และอีก 60 MW ขายให้แก่ EdL
ในวันนี้ EXIM BANK พร้อมด้วยนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ KBANK, นาย Jackie B. Surtani, Head of Project Finance - Asia Pacific, KBC Bank NV ของเบลเยียม และผู้แทนสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศรวม 8 แห่ง พร้อมด้วยนายเดวิด แอล. ไมเคิลส์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท จี เอ็ม เอส เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามในสัญญาเงินกู้ร่วม (Syndicated Loan) สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ 187.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสกุลเงินบาท 13,940 ล้านบาทแก่บริษัท เทินหินบุน เพาเวอร์ จำกัด เพื่อสนับสนุนโครงการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าเขื่อนเทินหินบุน สปป.ลาว
โครงการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าเขื่อนเทินหินบุนใน สปป.ลาว นับเป็นโครงการแรกที่สามารถลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. และสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปีนี้ โดยโครงการประกอบด้วย 1) โรงไฟฟ้าใหม่ใกล้แม่น้ำยวง เพื่อใช้เป็นอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อน และขยายกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าจากเดิม 210 MW เป็น 500 MW 2) เขื่อนและอ่างเก็บน้ำบริเวณแม่น้ำยวงใกล้กับเขื่อนเดิม เพื่อช่วยควบคุมการไหลเวียนของน้ำ โดยเขื่อนมีความสูง 70 เมตร และอ่างเก็บน้ำมีขนาด 2,450 ล้านลูกบาศ์กเมตร 3) อุโมงค์ เชื่อมปากเขื่อนกับโรงไฟฟ้าใหม่ และ 4) สายส่งไฟฟ้าสายคู่ 230 กิโลโวลต์ (kV) เชื่อมจากโรงไฟฟ้าไปอำเภอท่าแขก สปป.ลาว เพื่อเชื่อมกับสายส่งเดิมที่จังหวัดสกลนครของไทย
โครงการเขื่อนพลังน้ำและโรงไฟฟ้าเทินหินบุนได้รับสัมปทานแบบ Build-Own-Operate-Transfer (BOOT) จากรัฐบาล สปป.ลาว เป็นระยะเวลา 30 ปี เริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าเมื่อเดือนเมษายน 2541 ไฟฟ้าส่วนใหญ่ของโครงการจำหน่ายให้แก่ กฟผ. ในปริมาณไม่ต่ำกว่า 95% ของปริมาณกระแสไฟฟ้าสุทธิที่โครงการผลิตได้ทั้งหมดเป็นระยะเวลา 25 ปี สิ้นสุดปี 2567 และไฟฟ้าที่เหลือจะขายให้แก่ EdL
--อินโฟเควสท์ โดย จารุวรรณ ไหมทอง/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--