ศูนย์วิจัยกสิกรมองอาร์/พีเข้าช่วงขาลงหลังแบงก์กลางทั่วโลกลดดบ.ฉุกเฉิน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 9, 2008 12:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของอยู่ในช่วงขาลงแล้ว หลังจาก ธนาคารกลางของสหรัฐและยุโรป รวมถึงประเทศต่างๆ ก็ได้ร่วมมือกันปรับลดดอกเบี้ยฉุกเฉินลง เพื่อพยุงปัญหาเศรษฐกิจที่ลุกลามจากสหรัฐไปยังส่วนอื่น ๆ ของโลก 
ส่วนจะมีการเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในวาระฉุกเฉินฯ เพื่อปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงตามต่างประเทศหรือไม่นั้น คงต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่กว่าที่จะถึงกำหนดประชุมครั้งต่อไปในเดือน ธ.ค.ก็ค่อนข้างนาน เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์การเงินโลกมีความผันผวนมาก รวมทั้งตลาดหุ้นทั่วโลกก็ปรับลดลงอย่างรุนแรงอีก ก็อาจจะเป็นเหตุผลที่ กนง.หยิบยกมาพิจารณาได้ ซึ่งยอมรับว่าปัจจัยในต่างประเทศขณะนี้ จำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะไม่สามารถคาดการณ์ได้
"การประชุม กนง.ฉุกเฉินฯต้องมีเหตุผลชัดเจน ซึ่งต่างกับกรณีของธนาคารกลางประเทศต่างๆ ที่ประชุมฉุกเฉิน ฯ เพราะเป็นปัญหาสถาบันการเงินเขา"นายเชาว์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
ส่วนการที่ กนง.วานนี้ (8 ต.ค.)มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 3.75% อาจเป็นเพราะมองว่าปัญหาภาคการเงินในสหรัฐและหลายประเทศยังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อไทย และไม่ได้เป็นปัญหาที่เกิดจากพื้นฐานเศรษฐกิจไทย ซึ่งต่างจากปี 2540 ที่เป็นวิกฤติภาคการเงินของไทยเอง นอกจากนี้ ดัชนีชี้วัดทางเศณษฐกิจต่างๆ ยังไม่ได้บ่งชี้ว่า ปัจจัยภายนอกจะส่งผลกระทบต่อไทยโดยตรง
"เชื่อว่า ธปท.และกนง.คงชั่งน้ำหนักในเรื่องนี้ก่อนตัดสินใจคงดอกเบี้ย เพราะในเอกสารระบุว่ากนง.จะดำเนินโยบายการเงินโดยยึดการเติบโตเศรษฐกิจเป็นที่ตั้งและมองว่าความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจชะลอตัวมีมากขึ้นจากสภาวะแวดล้อม ทั้งภายในและภายนอก และยังไม่สายที่ ธปท.จะติดตามเรื่องนี้ต่อไปก่อน" นายเชาว์ กล่าว
นายเชาว์ กล่าวอีกว่า จากปัจจัยภายในและนอกประเทศ ทำให้ศูนย์วิจัยฯ ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ของไทยในปีนี้เหลือ 5% โดยคาดว่าครึ่งปีหลังจะขยายตัว 4.3% จากครึ่งปีแรกเติบโต 5.7%
ส่วนปี 52 ยอมรับว่ามีความกังวลมากว่าจะได้รับผลกระทบจากศก.โลกมาก โดยคาดว่าจีดีพีจะขยายตัว 4.5% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ ผลกระทบและการแก้ปัญหาภาคการเงินของสหรัฐ จะได้ผลหรือไม่ หรือจะลุกลามบานปลายไปมากน้อยแค่ไหน
อย่างไรก็ตาม ปัญหาเศรษฐกิจโลกเริ่มส่งผลกระทบต่อไทย ทั้งในส่วนของตลาดหุ้น และสถาบันการเงินที่มีธุรกิจเกี่ยวโยงกับต่างประเทศ ส่วนปี51เป็นห่วงผลกระทบต่อภาคการส่งออก การลงทุน เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจสหรัฐและยุโรป และต้องติดตามเศรษฐกิจเอเซียจะมีสถาบันการเงินมีปัญหาตามไปด้วยหรือไม่ ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิดที่อาจกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ สภาพคล่อง ตลาดเงิน สถาบันการเงิน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ