เมื่อวานนี้ อาจจะเรียกได้ว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในวงการการเงินโลกเมื่อธนาคารกลางประเทศมหาอำนาจพากันประกาศลดดอกเบี้ย นำโดยพี่ใหญ่อย่างธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ร่วมกับธนาคารกลางอังกฤษ ธนาคารกลางสวีเดน ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ และธนาคารกลางแคนาดา ตัดสินใจลดดอกเบี้ยพร้อมกันที่ระดับ 0.5% หลังจากวิกฤตการณ์สินเชื่อในสหรัฐได้ลุกลามเข้าไปในยุโรป โดยการลดดอกเบี้ยร่วมกันครั้งนี้มีเป้าหมายที่จะสกัดกั้นเศรษฐกิจไม่ให้ถดถอย
กระแสการลดดอกเบี้ยจากฝั่งสหรัฐและยุโรปได้ส่งผลให้ธนาคารกลางในเอเชียรีบออกมาเคลื่อนไหวตาม โดยจีนเป็นประเทศแรกที่เคลื่อนไหวไปในแนวทางเดียวกับชาติตะวันตก เพียงไม่กี่นาทีที่แบงค์ชาติยักษ์ใหญ่ลดดอกเบี้ย ธนาคารกลางจีนก็ไม่น้อยหน้าร่วมวงประกาศลดดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ทันทีเมื่อเย็นวาน
การที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นไม่ได้ร่วมวงลดดอกเบี้ยเมื่อวานนี้ด้วยนั้น แบงค์ชาติญี่ปุ่นให้เหตุผลว่า เป็นเพราะอัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่นอยู่ในระดับที่ต่ำมากแล้ว สำหรับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำเช่นในปัจจุบัน แต่ธนาคารกลางญี่ปุ่นเองก็ได้อัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบอย่างต่อเนื่อง โดยอัดฉีดเงินเข้าระบบการเงินมาติดต่อกัน 17 วันทำการแล้ว นับตั้งแต่ที่เลห์แมน บราเธอร์ส โฮลดิ้ง อดีตวาณิชธนกิจรายใหญ่อันดับ 4 ของสหรัฐล้มละลาย ซึ่งการอัดฉีดเงินเข้าระบบนี้ก็ถือเป็นความร่วมมือในการแก้ปัญหาระดับโลกด้วยเช่นกัน
หลังจากที่ธนาคารกลางยักษ์ใหญ่ประกาศลดดอกเบี้ยลง ธนาคารกลางในภูมิภาคเอเชียก็ขานรับการตัดสินใจดังกล่าวด้วยการปรับลดดอกเบี้ยลงเช่นกัน ต่อไปนี้ คือ ลำดับเหตุการณ์การตัดสินใจลดดอกเบี้ยแบบต่อเนื่องของธนาคารกลางหลายประเทศทั่วโลก
9 ตุลาคม 2551
ธนาคารกลางไต้หวัน ธนาคารกลางฮ่องกง ธนาคารกลางเกาหลีใต้ได้ประกาศลดดอกเบี้ยลงทันทีในวันนี้ โดยธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศลดดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00% ในวันนี้ นายลี ซอง-เต ผู้ว่าการธนาคารกลางเกาหลีใต้เตรียมแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในช่วงเช้านี้ เพื่อชี้แจงถึงเหตุผลในการลดดอกเบี้ย ขณะที่ธนาคารกลางไต้หวันประกาศลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน 0.25% ส่วนธนาคารกลางฮ่องกงประกาศลดอัตราดอกเบี้ยข้ามคืนลง 0.50% แตะระดับ 2.0%
8 ตุลาคม 2551
ธนาคารกลางสหรัฐ ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ธนาคารกลางอังกฤษ ธนาคารกลางสวีเดน ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ และธนาคารกลางแคนาดา ประกาศลดดอกเบี้ยพร้อมกันที่ระดับ 0.5% เพื่อยับยั้งวิกฤตการณ์ในตลาดการเงินและสกัดกั้นการถดถอยของเศรษฐกิจ
ธนาคารกลางจีนได้ประกาศลดดอกเบี้ยลง 0.27% ธนาคารกลางฮ่องกงประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มาตรฐานลง 1% สู่ระดับ 2.5% จากเดิมที่ระดับ 3.5% เมื่อวานนี้ นอกจากนี้ ยังได้ลดเพดานสำรองธนาคารลงด้วยเช่นกัน
7 ตุลาคม 2551
ธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศลดอัตราดอกเบี้ย 1.0% สู่ระดับ 6.0% หลังจากที่ธนาคารกลางได้อัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบอีก 1.815 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือ 1.3 พันล้านดอลลาร์
ตลาดหุ้นเอเชียขานรับมาตรการลดดอกเบี้ย
ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียวันนี้ต่างขานรับกับข่าวการลดดอกเบี้ยครั้งประวัติศาสตร์ ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดตลาดเช้านี้บวก 166.51 จุด หรือ 1.08% ดัชนีคอมโพสิตตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดขยับขึ้นเล็กน้อยแรงซื้อหุ้นกลุ่มส่งออกที่ได้รับอานิสงส์จากสกุลเงินวอนที่อ่อนค่าลง ขณะที่ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนเปิดตลาดวันนี้บวกขึ้นเช่นกัน ส่วนดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นญี่ปุ่น ปิดตลาดเช้าวันนี้พุ่ง 115.08 จุด แตะระดับ 9,318.40 จุด
ต่างมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญในวงการการเงินต่างมีความเห็นที่แตกต่างกันไปเกี่ยวกับการออกมาเคลื่อนไหวของธนาคารกลางประเทศต่างๆ บลูมเบิร์กรายงานว่า นายฮิโรมิชิ ชิรากาว่า หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของญี่ปุ่นประจำเครดิต สวิส กรุ๊ป มองว่า การลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางในเอเชียคงจะไม่ส่งผลกระทบใดๆ สหรัฐและยุโรปเองควรจะเริ่มคิดถึงเรื่องการใช้นโยบายที่ระดับศูนย์ได้แล้ว ด้านผู้ว่าการธนาคารกลางเกาหลีใต้เองก็มองว่า การลดดอกเบี้ยลงคงจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบมากนักกับค่าเงินวอน และเป็นไปได้ที่ธนาคารจะลดดอกเบี้ยลงอีก
นายฌอง คล้อด ทริเชต์ ประธานธนาคารกลางยุโรปเองไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ในเรื่องการลดดอกเบี้ยลงอีก ย้ำอีซีบีพร้อมเสนอที่จะดำเนินการทุกด้านเท่าที่จำเป็น ชี้การที่ธนาคารกลางทั่วโลกตัดสินใจลดดอกเบี้ยถือเป็นการส่งสัญญาณในด้านบวกต่อตลาด และจะช่วยกอบกู้ความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา
เจมส์ ลิลลีย์ อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำกรุงปักกิ่ง กล่าวถึงความเคลื่อนไหวของการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางประเทศต่างๆว่า ญี่ปุ่นยังคงเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจรายหนึ่ง แต่จีนก็เป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่เช่นกัน ดังนั้นทั้ง 2 ประเทศจึงเข้ามามีส่วนร่วมในประชาคมการเงินโลกเพื่อรับมือกับวิกฤตการเงินมากขึ้นด้วยรูปแบบความเคลื่อนไหวของตนเอง
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางรายมองว่า การลดดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวคงจะไม่สามารถแก้ปัญหาสินเชื่อได้ อาจจะต้องมีการเทคโอเวอร์หรือการรับประกันจากทางรัฐบาลด้วย
นอกจากนี้ บีบีซีรายงานว่า จูเลียน เจสซอฟ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ต่างประเทศจากแคปิตอล อิโคโนมิคส์ กล่าวว่า การที่ธนาคารกลางตัดสินใจใช้มาตรการร่วมกันนี้ก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าที่ผ่านมาสภาพแวดล้อมในตลาดแย่เพียงใด แต่มีบางรายมองว่า การลดดอกเบี้ยครั้งนี้จะช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นขึ้นมาได้อย่างน้อยก็ระยะหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าภารกิจของรัฐบาลนานาประเทศในการแก้ปัญหาจะเบาบางลง
สอดคล้องกับมุมมองของโอลิเวอรี บลอนชาร์ด หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ว่า การลดดอกเบี้ยร่วมกันนี้คงจะไม่สามารถแก้ปัญหาวิกฤตการเงินโลกได้ แต่ก็ถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่เดินมาในทิศทางที่ถูกต้องแล้ว
จากนี้ไป สถาบันการเงินในแต่ละประเทศคงจะร่วมมือกันในลักษณะนี้มากขึ้น เพื่อที่จะเยียวยาวิกฤตเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวโดยเร็วเท่าที่จะเป็นไปได้
--อินโฟเควสท์ โดย สุนิตา พรรณรักษา/รัตนา โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--