ผลสำรวจความคิดเห็นของสถาบันการเงินหลายแห่งซึ่งจัดทำโดยสำนักงานกฎหมายระดับนานาชาติ นอร์ตัน โรส กรุ๊ป (Norton Rose Group) ระบุว่า วิกฤตการเงินระดับโลกจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างอุตสาหกรรมการเงินครั้งใหญ่ และหลายสถาบันการเงินจะประสบภาวะล้มละลาย
โดย 79% ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่าจะมีสถาบันการเงินอีกหลายแห่งที่ล้มละลาย ขณะที่ 85% คาดว่าข้อกำหนดในการปล่อยกู้จะเข้มงวดกว่าเดิมและ 91% เชื่อว่าจะเกิดการควบรวมกิจการมากขึ้น ส่วนอีก 38% คาดว่ารัฐบาลจะเทคโอเวอร์บริษัทที่ประสบปัญหามากขึ้น
ผู้ตอบแบบสอบถามหลายรายเปิดเผยว่า วิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของภาคเอกชน โดยสถาบันการเงินหลายแห่งเพิ่มความระมัดระวังในการบริหารความเสี่ยง, การอนุมัติเงินกู้ และการตรวจสอบสถานะทางการเงิน นอกจากนั้นยังมีความกระตือรือร้นมากขึ้นในการรื้อฟื้นกิจการและอาจนำไปสู่ความขัดแย้งทางธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจที่มีความซับซ้อนสูงอย่างโครงสร้างเงินทุนและตราสารอนุพันธ์
นายสตีเฟ่น พาริช หัวหน้าฝ่ายธนาคารโลกของบริษัทนอร์ตัน โรส แอลแอลพี มองว่า "วิกฤตสินเชื่อก้าวมาถึงช่วงเวลาที่เลวร้ายอีกครั้ง จุดเริ่มต้นของปัญหาสภาพคล่องเกิดขึ้นจากการปรับลดมูลค่าทางบัญชีของสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับตลาดปล่อยกู้จำนองที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆจนนำไปสู่ปัญหาภาคการเงินที่ทวีความรุนแรงขึ้นมาก
ผู้ตอบแบบสอบถามหลายคน (47%) ยังมองเห็นถึงโอกาสการดำเนินธุรกิจในตลาดใหม่ๆหลายแห่ง โดยเฉพาะในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (อินเดีย 36%, ตะวันออกกลาง 47% และจีน 33%) แต่ยังมีผู้ที่เห็นถึงโอกาสในยุโรปตะวันตก 31% และในอเมริกาเหนือ 23%
ทั้งนี้ 75% ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่า ผลกระทบจากวิกฤตสินเชื่อจะค่อยๆบรรเทาเบาบางลงในระยะเวลา 1-5 ปี ขณะที่ 17% เชื่อว่าสถาบันการเงินต้องใช้เวลากว่า 5 ปี หรืออาจต้องเผชิญปัญหาสินเชื่อเป็นการถาวร
ด้านเจมส์ แบตสัน ประธานฝ่ายสถาบันการเงินของนอร์ตัน โรส แอลแอลพี กล่าวว่า "นักเศรษฐศาสตร์บางท่านเชื่อว่า การขยายตัวในตลาดเกิดใหม่อาจช่วยชดเชยการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจชาติยุโรปได้ และนักลงทุนจากเอเชียและตะวันออกกลางต่างเริ่มใช้กลยุทธ์ในการซื้อสินทรัพย์จากบริษัทเหล่านั้นมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่ว่านักลงทุนจะใช้วิธีใด ความเคลื่อนไหวในอีกไม่กี่เดือนต่อจากนี้จะยังเป็นเรื่องที่ท้าทายและไม่สามารถคาดเดาได้เลย"
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย อรษา สงค์พูล/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--