อัตราดอกเบี้ยในตลาดอินเตอร์แบงค์เอเชียยังคงปรับตัวสูงขึ้นในวันนี้ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ยังคงลังเลที่จะปล่อยเงินกู้ แม้ธนาคารกลางญี่ปุ่นและออสเตรเลียอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินเป็นวงเงินรวมกว่า 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์
อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงค์ประเภท 3 เดือนที่ตลาดโตเกียว (TIBOR) ยืนอยู่ที่ระดับ 0.878% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.ปีพ.ศ.2541 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงค์ประเภท 3 เดือนที่ตลาดสิงคโปร์ (SIBOR) พุ่งขึ้น 0.23% แตะระดับ 4.74% และอัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงค์ในตลาดฮ่องกง (HIBOR) พุ่งขึ้น 0.01% แตะระดับ 4.41% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค.ปีที่แล้ว
คาเซร์ บาโยนิโต นักวิเคราะห์จาก Allied Banking Corp แสดงความเห็นว่า "การลดอัตราดอกเบี้ยอาจช่วยผ่อนคลายความวิตกกังวลในตลาดการเงินได้บ้าง แต่ปัญหาใหญ่ไม่ได้อยู่ที่การลดหรือไม่ลดดอกเบี้ย แต่อยู่ที่ความเชื่อมั่นของสถาบันการเงินต่างหาก"
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ธนาคารกลางอังกฤษ ธนาคารกลางสวีเดน ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ และธนาคารกลางแคนาดา ประกาศลดดอกเบี้ยพร้อมกันที่ระดับ 0.5% เพื่อยับยั้งวิกฤตการณ์ในตลาดการเงินและสกัดกั้นการถดถอยของเศรษฐกิจ
ในวันเดียวกัน ธนาคารกลางจีนได้ประกาศลดดอกเบี้ยลง 0.27% นอกจากนี้ ยังได้ลดเพดานสำรองสภาพคล่องลง 0.50%
ต่อมาในวันพฤหัสบดี ธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศลดดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00% ธนาคารกลางไต้หวันลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน 0.25% และธนาคารกลางฮ่องกงลดอัตราดอกเบี้ยข้ามคืน 0.50% แตะระดับ 2.0%
นอกจากนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้อัดฉีดเงินเข้าระบบอีก 2 ล้านล้านเยนในวันนี้ นับเป็นการอัดฉีดสภาพคล่องที่ต่อเนื่องกัน 18 วันทำการแล้วในวันนี้ โดยมีเป้าหมายที่จะเสริมสภาพคล่องในตลาดอินเตอร์แบงค์
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/ปนัยดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 323 อีเมล์: panaiyada@infoquest.co.th--