ธปท.พร้อมออกมาตรการเพิ่มเพื่อให้ศก.มี momentum หากพบวิกฤติโลกกระทบแรง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 10, 2008 15:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)พร้อมจะพิจารณามาตรการเพิ่มเติม เพื่อให้เศรษฐกิจไทยมีแรงขับเคลื่อนต่อไปได้ หากได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินโลกอย่างชัดเจน 
"กนง. พร้อมที่จะทำมาตรการเพิ่มเติม หากดูแล้วพบว่าวิกฤติการเงินโลกกระทบต่อเศรษฐกิจไทยชัดเจน เพื่อให้เศรษฐกิจไทยมีโมเมนตั้ม ขยายตัวต่อไปได้" รองผู้ว่าการ ธปท.กล่าว
นายบัณฑิต กล่าวว่า ขณะนี้ ธปท.ติดตามภาวะตลาดเงินโลกอย่างใกล้ชิด เพราะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และรอดูผลการประชุมรัฐมนตรีคลังกลุ่มประเทศ G7 ว่าจะมีการตัดสินใจทำอะไร
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กนง.ยังคงตารางการประชุมไว้ตามเดิมที่จะมีการประชุมครั้งต่อไปในเดือน ธ.ค. เพราะเพิ่งมีการพิจารณากำหนดนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับ 3.75% เมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา เหตุที่คงอัตราดอกเบี้ยเนื่องจากมองว่าดูแล้วความเสี่ยงเงินเฟ้อลดลง ดังนั้นความจำเป็นจะใช้นโยบายการเงินจึงมีน้อยลง
และอีกเหตุผลหนึงที่ทำให้ กนง.ไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เพราะเศรษฐกิจไทยไม่ได้มีวิกฤติสินเชื่อเหมือนหลายประเทศ และที่สำคัญอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 3.75% ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำเพียงพอที่จะสนับสนับการขยายตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่ดอกเบี้ยที่แท้จริงยังติดลบอยู่ ดังนั้น ภาวะการเงินและอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังอยู่ในเกณฑ์ที่จะสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้
นายบัณฑิต กล่าวอีกว่า สภาพคล่องการเงินส่วนเกินในระบบของไทยยังมีความเพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้จ่ายในประเทศ โดยสินเชื่อยังขยายตัวเป็นตัวเลข 2 หลัก ธนาคารพาณิชย์ก็ยังทำหน้าที่ปล่อยสินเชื่อเพื่อให้ธุรกิจ และเศรษฐกิจได้รับประโยชน์ แต่จากการที่ต่างประเทศมีความเสี่ยงสูง ธนาคารคงจะระมัดระวังมากกว่าปกติ
ส่วนการเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นไทย 2-3 วันที่ผ่านมาและวันนี้ที่ตกลงแรงกว่า 10% เกิดจากปัจจัยเสี่ยงภายนอก ซึ่งตลาดหุ้นทั่วโลกก็ปรับลดลงค่อนข้างมากเช่นกัน แต่มองว่าภาวะตลาดหุ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดเงินของไทย เพราะขณะนี้ทุกอย่างอยู่ในเกณฑ์ปกติ ทั้งสภาพคล่อง ดอกเบี้ยระยะสั้น และค่าเงินบาท ซึ่งวันนี้เคลื่อนไหวเฉลี่ย 34.40 บาท/ดอลลาร์ ใกล้เคียงเมื่อวานนี้
ขณะที่ การดำเนินงานของสถาบันในประเทศก็ยังปกติ ไม่มีเหตุผิดปกติที่สะท้อนถึงผลกระทบจากภายนอก
"เศรษฐกิจในช่วงต่อไปอาจจะขยายตัวชะลอลงจากภาคของการส่งออก และกระทบความสามารถในการขยายสินเชื่อของธนาคาร คุณภาพสินเชื่อ ในแง่นี้แบงก์ต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพสินเชื่อ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา NPL กับฐานะแบงก์ในอนาคต ซึ่งธปท.ติดตามและให้ความสำคัญกับปัญหา NPL" นายบัณฑิต กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ