G7-IMF พร้อมใจออกมาตรการต้านวิกฤตการเงินทั่วโลก ยืนยันทุ่มสุดตัวช่วยปท.ประสบปัญหา

ข่าวต่างประเทศ Monday October 13, 2008 06:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          โดมินิก สเตราส์-คาห์น ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนว่าระบบการเงินโลกใกล้จะล่มสลายในเชิงระบบ ซึ่งเป็นผลมาจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการล้มละลายของสถาบันการเงินมากมายทั้งในสหรัฐและยุโรป ด้วยเหตุนี้ IMF จึงร่วมกับกลุ่มประเทศ G7 ประกาศใช้มาตรการต้านวิกฤตการเงินทั่วโลก และพร้อมที่จะดำเนินการทุกด้านเพื่อช่วยเหลือประเทศที่ประสบปัญหา
"คณะกรรมการเงินตราและการเงินระหว่างประเทศ (IMFC) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำหนดนโยบายของ IMF ได้ยื่นมือเข้ามาร่วมกำหนดมาตรการกู้วิกฤตการณ์ทั่วโลก ขณะที่ประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่และประเทศรายได้ต่ำ ต่างเห็นด้วยในหลักการและมาตรการปฏิบัติของ G7" สเตราส์-คาห์นแถลงข่าวในวันแรกของการประชุมประจำปีไอเอ็มเอฟ-ธนาคารโลกที่วอชิงตัน
IMFC ระบุในแถลงการณ์ว่า IMF พร้อมให้เงินช่วยเหลืออย่างรวดเร็วแก่ประเทศที่เผชิญวิกฤตและต้องการเงินทุน รวมถึงเรียกร้องให้สมาชิก IMF ร่วมมือกันมากขึ้นเพื่อหารือและพัฒนานโยบายในการรับมือวิกฤตโดยเร็ว
แถลงการณ์ครั้งล่าสุดมีขึ้นในช่วงที่ระบบการเงินโลกกำลังเผชิญวิกฤตเลวร้ายที่สุดนับจากวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทั่วโลกในทศวรรษ 1930 และออกมาภายหลังจากดัชนีดาวโจนศ์ดิ่งลงต่ำกว่าระดับ 9,000 จุดซึ่งฉุดตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งเหว จนเป็นเหตุให้ธนาคารกลางของประเทศต่างๆพร้อใจกันลดดอกเบี้ยและอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินติดต่อกันหลายวัน
ทั้งนี้ IMF ให้การรับรองแผนปฏิบัติการ 5 ข้อซึ่งที่ประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของกลุ่ม 7 ชาติอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (G7) ที่ระบุว่าจะใช้ 'เครื่องมือทุกอย่างที่มี' เพื่อประคับประคองไม่ให้สถาบันการเงินสำคัญล้ม พร้อมกันนี้ IMF กล่าวว่า แม้งบประมาณของชาติผู้บริจาคเริ่มตึงตัวเนื่องจากวิกฤตการเงิน แต่ IMF ร้องขอไม่ให้ประเทศเหล่านั้นตัดลดความช่วยเหลือ "เนื่องจากประเทศยากจนต้องการเงินทุนเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะอดอยาก"
สำหรับแผนปฏิบัติการ 5 ข้อซึ่งเป็นข้อสรุปจากที่ประชุมรัฐมนตรีคลังกลุ่ม G7 และได้รับการสนับสนุนจากที่ประชุม G20 และ IMF นั้น ได้แก่ 1.การใช้เครื่องมือทั้งหมดที่สามารถหามาได้ เพื่อสนับสนุนสถาบันการเงินที่มีความสำคัญในเชิงระบบ และป้องกันไม่ให้สถาบันการเงินเหล่านี้ล้มละลาย
2.ใช้มาตรการที่จำเป็นทุกอย่างเพื่อป้องกันไม่ให้ตลาดสินเชื่อและตลาดเงินเข้าสู่ภาวะชะงักงัน และเพื่อรับประกันให้ธนาคารและสถาบันการเงินอื่นๆ สามารถเข้าถึงสภาพคล่องและเงินกู้ได้
3. รับประกันให้ธนาคารและตัวกลางทางการเงินที่สำคัญๆ สามารถระดมเงินทุนตามที่จำเป็น จากแหล่งในภาคสาธารณะตลอดจนแหล่งภาคเอกชน ในจำนวนที่เพียงพอแก่การพลิกฟื้นความเชื่อมั่น รวมทั้งเปิดทางให้ธนาคารสามารถปล่อยกู้แก่ครัวเรือนและธุรกิจต่างๆได้ต่อไป
4. รับรองโครงการรับประกันและค้ำประกันเงินฝากแห่งชาติในแต่ละประเทศเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่ง เพื่อผู้ฝากรายย่อยจะมีความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัยในเงินฝาก
5. ใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อกระตุ้นตลาดสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ให้สามารถกลับมาทำงานได้ตามกลไกอีกครั้ง โดยมาตรการดังกล่าวครอบคลุมถึงการตีราคาสินทรัพย์อย่างถูกต้องแม่นยำ และเปิดเผยข้อมูลของสินทรัพย์อย่างโปร่งใส สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ