ธปท.เผยยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ส.ค.ชะลอตัวตามภาพรวมเศรษฐกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 13, 2008 10:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ สายเสถียรภาพ สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า อัตราการขยายตัวของใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตรวมทั้งระบบ เดือนส.ค. อยู่ที่  74,248.45 ล้านบาท เติบโต 6.20% เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน แต่เป็นอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก.ค.ซึ่งมีการใช้จ่ายที่ 78,052.65 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน 14.32%  
ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการบริโภคภายในประเทศขยายตัวลดลง เนื่องจากผู้บริโภคใช้ความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้นหลังเศรษฐกิจอยู่ในทิศทางชะลอตัว โดยการใช้จ่ายผ่านบัตรรวมในประเทศเดือนนี้มีมูลค่า 54,910 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันก่อน8.96% แต่ลดลงเมื่อเทียบกับการขยายตัวในเดือนก.ค.ที่ 57,543 ล้านบาทหรือขยายตัว 14.50%
เช่นเดียวกับการใช้จ่ายผ่านบัตรในต่างประเทศอยู่ที่ 2,635 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน 8.10% เทียบกับเดือนก่อนซึ่งมีมูลค่า 3,246 ล้านบาท เพิ่มขึ้นระยะเดียวกันปีก่อน 15.19%
นอกจากนั้นยังพบว่า การเบิกเงินสดล่วงหน้ายังอยู่ในทิศทางเดียวกันโดยอยู่ที่ 16,703 ล้านบาท ขยายตัวในอัตราชะลอลงจากระยะเดียวกันปีก่อน 2.21% แต่ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับเดือน ก.ค.ซึ่งมีมูลค่า17,263 ล้านบาทและขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน 13.56%
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากยอดคงค้างสินเชื่อประเภทนี้พบว่ามีมูลค่าทั้งสิ้น 179,772 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน 6.25%
“ยอดคงค้างสินเชื่อล่าสุดส.ค.ที่ 6.25% เทียบกับการใช้จ่ายที่ขยายตัว 6.20% แสดงถึงความสามารถในการชำระหนี้ที่ดีขึ้นแม้เศรษฐกิจไม่ดี โดย NPL ณ สิ้นมิ.ย.อยู่ที่ 3.1% และตัวเลขเดือน ก.ค.ก็น่าจะทรงตัวในระดับนี้ เพราะผู้ประกอบการใช้ความระมัดระวังอย่างมาก แต่ธปท.ยังคงจับตาอย่างใกล้ชิด" นายบัณฑิตระบุ
ขณะที่ ยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลรวมทั้งระบบล่าสุดเดือนส.ค.อยู่ที่ 225,868 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันก่อน 9.11% สูงขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 9.0% แยกเป็น การขยายตัวในส่วนของธนาคารพาณิชย์ 16.4% และสถาบันการการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (mom bank)1.4% โดยขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน
ทั้งนี้ ในเดือนส.ค.ไทยเผชิญกับการเร่งตัวเงินเฟ้อสูง ส่งผลให้ทั้งธนาคารพาณิชย์และผู้บริโภคใช้ความระมัดระวังในการขอสินเชื่อมากขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ