นายโอฬาร ไชยประวัติ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจมีมติอนุมัติมาตรการ 6 ด้านเพื่อรับมือวิกฤติการเงินสหรัฐที่อาจส่งผลกระทบถึงประเทศไทย ซึ่งคิดเป็นเม็ดเงินจากมาตรการทั้งหมดราว 1.2 ล้านล้านบาท เชื่อว่าจะผลักดันให้เศรษฐกิจในปี 52 เติบโตได้ 4% จาก 5.1% ในปีนี้
"หากปี 52 รัฐบาลสามารถดำเนินตาม 6 มาตรการได้ ซึ่งเป็นเม็ดเงินรวม 1.2 ล้านล้านบาทจะช่วยประคองให้เศรษฐกิจปี 52 ขยายตัวได้ 4% "นายโอฬาร กล่าวภายหลังการประชุม
มาตรการดังกล่าว ประกอบด้วย มาตรการด้านตลาดทุนที่จะส่งเสริมให้มีการลงทุนมากขึ้น, สนับสนุนสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจอย่างเพียงพอและทั่วถึง, เร่งรัดรายได้ด้านส่งออกและการท่องเที่ยว, เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศ, เร่งโครงการลงทุนขนาดใหญ่และเพิ่มวงเงินอีก 1 แสนล้านบาท และ สนับสนุนประชาคมการเงินเอเชีย
สำหรับมาตรการด้านตลาดทุน เป็นโอกาสของคนไทยเข้าซื้อหุ้นราคาถูกผลตอบแทนดี หากต่างชาติขายหุ้นในมือที่มีมูลค่าสูงสุด 1.1 แสนล้านบาท หรือเทียบเป็น 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทุนสำรองฯ ของไทยมีมากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเพียงพอที่จะรองรับได้ ทางการก็จะสนับสนุนให้มีการลงทุนเพิ่มเติมจากการขยายวงเงินลงทุนที่จะได้รับการลดหย่อนภาษีใน LTF และ RMF จาก 5 แสนบาทเป็น 7 แสนบาท ซึ่งจะนำเสนอเข้าครม.ด้วย
พร้อมทั้งสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนโดยความร่วมมือของเอกชนและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยจะเป็นกองทุนแมทชิ่งฟันด์ระหว่าง บลจ. และ ตลท. 5 กอง รวม 2 พันล้านบาท และ แมทชิ่งฟันด์ ระหว่างตลท.และสถาบันการเงินรวม 1 หมื่นล้านบาท ขณะที่ บมจ.อย่างน้อย 20-25 บริษัทตั้งกองทุนซื้อหุ้นคืน 3 หมื่นล้านบาท
มาตรการด้านสภาพคล่องให้มีเพียงพอถึงทุกธุรกิจ โดยสถาบันการเงินจะสนับสนุนการปล่อยสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง ธนาคารแห่งประเทศไทย ยืนยันว่าสภาพคล่องเงินบาทเพียงพอประมาณ 1 ล้านล้านบาท ธปท.พร้อมจะดูแลให้มีเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง และเพียงพอต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ แบ่งเป็น สินเชื่อธนาคารขยายตัวไม่ต่ำกว่า 5% หรือ 4 แสนล้านบาท, สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ขยายสินเชื่ออีก 5 หมื่นล้านบาท จาก 1.1 ล้านล้านบาท เป็น 1.15 ล้านล้านบาท และจะดูแลให้สินเชื่อและสภาพคล่องถึงทุกธุรกิจโดยไม่ติดขัด
มาตรการเร่งรัดรายได้ด้านการส่งออกและท่องเที่ยว เพื่อให้มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5% เน้นการร่วมมือเพื่อนำไปสู่การขยายตลาดในเอเชียและประเทศเพื่อนบ้าน ตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย อาฟริกา และละตินอเมริกา ซึ่งยังมีกำลังซื้อ โดยใช้ทีมไทยแลนด์ ต้องมีสินเชื่อเพื่อการส่งออกและหมุนการค้าของสินค้าในประเทศอย่างเพียงพอ แบ่งเป็นสินเชื่อรับซื้อพืชผลทั้งส่งออกและใช้ในประเทศ มีข้าว ยาง มัน และอ้อย ตั้งแต่ต้นฤดูกาล เพียงพอไปทั้งปี และสินเชื่อธุรกิจ SME ทั้งส่งออกและขายในประเทศ โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ อัญมณีและเครื่องประดับ สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้าและเครื่องหนัง เครื่องใช้ไฟฟ้า
มาตรการสร้างเศรษฐกิจในประเทศ เร่งการเบิกจ่ายงบประมาณไทยเที่ยวไทยปี 52 รองรับโดยสินเชื่อขยายไม่ต่ำกว่า 5% เพิ่มขึ้น 4.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 3 ส่วนคือ ด้านการคลัง เร่งรัดเบิกจ่าย มีงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.8 แสนล้านบาท ให้มีการเบิกจ่ายให้มากที่สุดในครึ่งปีแรกของงบประมาณ
โดยเฉพาะ SML, กองทุนหมู่บ้าน และโอทอป , คนไทยท่องเที่ยวในประเทศ โดยเฉพาะการสร้างโครงการร่วมกับเอกชนในการเที่ยวไทยให้กับผู้เกษียณอายุ และการท่องเที่ยวเชิงความรู้ของนักเรียน นักศึกษา, สินเชื่อจากสถาบันการเงินในประเทศ ขยายตัวไม่น้อยกว่า 5% เพื่อให้เพียงพอต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศและการส่งออกในภาวะที่ระบบการเงินผิดปกติ
มาตรการเร่งโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เพิ่มงบลงทุนจาก 2.5 แสนล้านบาท เป็น 3.5 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1 แสนล้านบาท ประมาณ 10% ของงบลงทุน MRT( 6 หมื่นล้านบาท) และระบบขนส่งทั่วประเทศ( 1 หมื่นล้านบาท) ด้านพลังงาน ปตท.(3 หมื่นล้านบาท)
มาตรการสนับสนุนประชาคมการเงินเอเชีย หลังจากเกิดวิกฤติเราจะเร่งสร้างชุมนุมเอเชีย โดยญี่ปุ่นและจีนจะต้องมีบทบาทนำระบบการเงินของโลก เอเชียต้องรักษาสถานการณ์ขยายตัวสูงให้มั่นคง เพื่อประคองเศรษฐกิจเอเชียและเศรษฐกิจโลก มีความร่วมมือทางการเงินเพื่อสร้างสภาพคล่องร่วมกัน เพื่อผลักดันการค้าภายในภูมิภาค
--อินโฟเควสท์ โดย ฐานิสร์ ทองนอก/ศศิธร/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--