ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์อ่อนตัว หลังแผนฟื้นฟูสหรัฐฉุดดอกเบี้ยอินเตอร์แบงค์ร่วง

ข่าวต่างประเทศ Wednesday October 15, 2008 07:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (14 ต.ค.) ซึ่งเป็นการร่วงลงติดต่อกัน 2 วันทำการ เพราะได้รับแรงกดดันจากอัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงค์ที่ปรับตัวลดลงหลังจากมีข่าวว่ารัฐบาลสหรัฐประกาศแผนอัดฉีดเงินทุนให้กับธนาคารยักษ์ใหญ่ 9 แห่งผ่านทางการซื้อหุ้นบุริมสิทธิ์ของธนาคารเหล่านี้

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ค่าเงินดอลลาร์ร่วงลงเมื่อเทียบกับเยนที่ 101.87 เยน/ดอลลาร์ จากระดับของวันจันทร์ที่ 101.99 เยน/ดอลลาร์ และอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ 1.1340 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.1373 ฟรังค์/ดอลลาร์

ขณะที่ค่าเงินยูโรพุ่งขึ้นแตะระดับ 1.3645 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับของวันจันทร์ที่ 1.3591 ดอลลาร์/ยูโร และเงินปอนด์พุ่งขึ้นแตะระดับ 1.7420 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 1.7395 ดอลลาร์/ปอนด์

ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียทรงตัวอยู่ที่ 0.6981 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย และดอลลาร์นิวซีแลนด์พุ่งขึ้นแตะระดับ 0.6204 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.6158 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์

ดอลลาร์ได้รับแรงกดดันอย่างหนักจากการร่วงลงของอัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงค์ หลังจากรัฐบาลสหรัฐใช้มาตรการฟื้นฟูระบบการเงินเบื้องต้นมูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในมาตรการฟื้นฟูมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ โดยรัฐบาลจะใช้เม็ดเงิน 2.50 แสนล้านดอลลาร์เข้าซื้อหุ้นบุริมสิทธ์ของ 9 ธนาคารยักษ์ใหญ่ ได้แก่ ธนาคารซิตี้กรุ๊ป, ธนาคารเวลส์ ฟาร์โก, เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค, แบงค์ ออฟ อเมริกา, โกลด์แมน แซคส์, มอร์แกน สแตนลีย์, สเตทสตรีท คอร์ป,แบงค์ ออฟ นิวยอร์ก เมลลอน คอร์ป และเมอร์ริล ลินช์

นอกจากนี้ บุชจะเสนอมาตรการฟื้นฟูระบบการเงินเฟสที่ 2 คิดเป็นมูลค่า 5.6 หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อให้สภาคองเกรสได้พิจารณาลงมติต่อไป

มาตรการดังกล่าวส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงค์สกุลเงินดอลลาร์ประเภท 3 เดือนที่ตลาดลอนดอน (Libor) ร่วงลงแตะระดับ 4.64% จากระดับ 4.75% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงค์ที่ตลาดสิงคโปร์ (Sibor) ลดลง 0.13% แตะ 4.66% ซึ่งลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 1 สัปดาห์ และอัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงค์ที่ตลาดฮ่องกง (Hibor) ร่วงลง 0.02% แตะ 4.42% ซึ่งอ่อนตัวลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย. นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงค์ในตลาดญี่ปุ่นและออสเตรเลียอ่อนตัวลงด้วย เนื่องจากธนาคารกลางของทั้งสองประเทศได้อัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงิน

ความเคลื่อนไหวของสหรัฐมีขึ้นหลังจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ร่วมกับกลุ่มประเทศ G7 ประกาศใช้มาตรการต้านวิกฤตการเงินทั่วโลก ซึ่งรวมถึงการปกป้องไม่ให้สถาบันการเงินเหล่านี้ล้มละลาย ส่วนในฝั่งยุโรปนั้น กลุ่มผู้นำยุโรปมีมติให้ใช้มาตรการรับมือกับปัญหาในระบบการเงิน ซึ่งครอบคลุมถึงการรับประกันเงินกู้ยืมระหว่างธนาคารพาณิชย์ และจะใช้งบประมาณในรูปสกุลเงินยูโรรับมือกับภาวะสินเชื่อตึงตัวในตลาดและยับยั้งความตื่นตระหนกของนักลงทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ