รัฐบาลสหรัฐรายงานตัวเลขขาดดุลบัญชีงบประมาณประจำปี 2551 ที่พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์จากภาวะตลาดเงินตึงตัวกดดันให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงและทำให้รัฐบาลมียอดการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2533
กระทรวงการคลังสหรัฐเปิดเผยว่า ยอดขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นแตะที่ 4.55 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ 2551 ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน เมื่อเทียบกับระดับ 1.62 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปีที่แล้ว และที่ระดับ 4.13 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2547 โดยส่วนต่างของตัวเลขผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) อยู่ที่ระดับ 3.2% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 1.2% ในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ยอดขาดดุลการค้ามีส่วนสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจมาตั้งแต่ปี 2547 ที่มีสัดส่วนคิดเป็น 3.6% ของ GDP
เดวิด กรีนลอว์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากมอร์แกน สแตนลีย์กล่าวว่า ยอดการใช้จ่ายที่เพิ่มสูงกว่ารายรับในปีนี้อาจจะยิ่งพุ่งสูงขึ้นอีก เนื่องจากกระทรวงคลังต้องนำเงิน 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐมาใช้เพื่อกอบกู้ภาคธุรกิจการเงินให้รอดพ้นจากวิกฤตสินเชื่อ โดยนายเฮนรี่ พอลสัน รัฐมนตรีคลังสหรัฐจะใช้เงิน 2.50 แสนล้านดอลลาร์เพื่อซื้อหุ้นในธนาคาร และเขาคาดว่าตัวเลขขาดดุลบัญชีอาจพุ่งขึ้นเกือบ 4 เท่าที่ราว 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และสุดท้ายยอดขาดดุลงบประมาณประจำปี 2551 จะพุ่งสูงกว่าที่สำนักงานงบประมาณของสหรัฐคาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ 4.38 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ รายได้จากการจัดเก็บภาษีเงินได้ของภาคเอกชนปรับตัวลดลง 18% ไปอยู่ที่ 3.043 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน
ขณะที่การใช้จ่ายทางทหารของสหรัฐพุ่งขึ้น 12.5% จากปีก่อนหน้านี้แตะที่ 5.947 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และการใช้จ่ายของกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มขึ้น 4.2% แตะระดับ 7.005 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมมียอดรวมอยู่ที่ 6.57 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งปรับตัวสูงขึ้น 5.8% จากปีงบประมาณก่อนหน้านี้
จิม นูสเซล ผู้อำนวยการฝ่ายสำนักงบประมาณของทำเนียบขาวกล่าวในแถลงการณ์ว่า "งบประมาณการใช้จ่ายในส่วนของแผนกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้สหรัฐมียอดขาดดุลการค้าที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งภาวะเช่นนี้เท่ากับเป็นการเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่สหรัฐต้องปรับปรุงนโยบายกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเงินอย่างระมัดระวัง"