ศูนย์วิจัยกสิกรไทยฯ คาดรัฐกำหนดราคายางขั้นต่ำแทรกแซงตลาดเพื่อพยุงราคา

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 16, 2008 11:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ทางการจะเข้ามาแทรกแซงราคายางด้วยการกำหนดราคาขั้นต่ำที่อิงกับต้นทุนการผลิต เพื่อพยุงราคา หลังจากตลาดเกิดความปั่นป่วนจากราคายางที่ตกลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง รวมทั้งทำลายความเชื่อมั่นจนมีการเทขายยางออกมาอย่างหนักด้วยความตื่นตระหนก ขณะที่ฝั่งผู้รับซื้อก็ไม่กล้าเปิดราคาซื้อ-ขาย และลูกค้าในต่างประเทศก็ชะลอคำสั่งซื้อด้วย

ศูนย์วิจัยฯ ระบุว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการค้ายางเห็นว่าขณะนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งหาทางออก เนื่องจากราคายางที่ตกต่ำอย่างรวดเร็วและรุนแรง ส่งผลกระทบอย่างมากต่อทุกฝ่าย โดยธุรกิจยางพาราเกี่ยวข้องกับเกษตรกรชาวสวนยางประมาณ 1 ล้านครอบครัว หรือ 6 ล้านคน โรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ยางประมาณ 719 โรง มีการจ้างงานในอุตสาหกรรมยางประมาณ 70,000 คน

ในระยะสั้นกระทรวงเกษตรฯมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรประชุมกับเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อประเมินและวิเคราะห์ถึงสถานการณ์เพื่อหามาตราการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน

ขณะที่คณะกรรมการบริหารกิจการขององค์การสวนยาง และคณะกรรมการสงเคราะห์การทำสวนยางนัดประชุมเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาด้วย โดยคาดว่าจะมีการกำหนดราคาขั้นต่ำ โดยอิงกับต้นทุนการผลิต ทั้งนี้เพื่อกำหนดระยะเวลาในการเข้าไปแทรกแซงรับซื้อยางเพื่อพยุงราคายางไม่ให้ตกต่ำไปกว่าราคาขั้นต่ำ

ส่วนการประชุมนานาชาติด้านยางพารา กระทรวงเกษตรฯมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรหารือกับบริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด ที่จะมีการประชุมในเดือนตุลาคมนี้ คาดว่าประเด็นหลักของการหารือคือ วิธีการจัดการสต็อกและบริหารปริมาณยางในตลาดโลกอย่างเหมาะสม ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว

ประเด็นนี้เคยเป็นประเด็นหลักเมื่อเริ่มก่อตั้งบริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ โดยในขณะนั้นมีปัญหาราคายางตกต่ำ กล่าวคือ แนวคิดความร่วมมือยางสามฝ่าย(International Tripartite Rubber Organization-ITRO)ระหว่างไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลก ทั้งสามประเทศตกลงให้แต่ละประเทศลดปริมาณการผลิตยางพารา 4% ต่อปี และลดปริมาณการส่งออกยางพารา 10% ต่อปี รวมทั้งได้มีแผนการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างทั้งสามประเทศ (International Rubber Consortium Company - IRCo)

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวยังไม่มีการดำเนินการ เนื่องจากราคายางในตลาดโลกเริ่มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการขยายพื้นที่ปลูกยางกันอย่างมาก ทั้งในประเทศตนเอง และเข้าไปลงทุนปลูกยางในประเทศต่างๆ เช่น ลาว กัมพูชา เป็นต้น ดังนั้น ประเด็นที่จะต้องหารือ คือ การสำรวจพื้นที่ปลูกยางทั้งหมด เพื่อให้ทราบถึงปริมาณการผลิตยางของแต่ละประเทศ ซึ่งจะช่วยในการวางแผนในการเก็บสต็อก เพื่อปรับปริมาณการผลิตและการส่งออกยางให้เหมาะสมกับสถานการณ์ความต้องการในตลาดโลก ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพของราคายางในตลาดโลก

สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาราคายางผันผวนในระยะยาวนั้น เป็นเรื่องที่มีการกำหนดไว้แล้วในยุทธศาสตร์ยาง ดังนั้น เป็นเรื่องที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต้องประสานความร่วมมือกัน โดยเป้าหมายสำคัญของยุทธศาสตร์ยางคือ ไทยต้องคงความเป็นผู้นำยางพาราของโลกและมีศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลกสูง

ทั้งนี้ ไทยจำเป็นต้องปรับโครงสร้างยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพาราให้เหมาะสมกับสถานการณ์ยางของประเทศและของโลกที่เปลี่ยนแปลง โดยเน้นการพัฒนาศักยภาพการผลิต การพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง และการพัฒนาตลาดยางไทยสู่สากลบนพื้นฐานของความร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตยางในการรักษาเสถียรภาพราคายาง การส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ยางภายในประเทศ และการเร่งรัดการวิจัยและพัฒนายางแบบครบวงจร ซึ่งการดำเนินการปรับโครงสร้างให้บรรลุเป้าหมายข้างต้น ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการยางไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกรต้องมีความร่วมมือและดำเนินการร่วมกันอย่างเป็นระบบภายใต้กลยุทธ์ กิจกรรมที่สอดคล้องและเอื้อประโยชน์ต่อกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ