นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวถึงข้อเสนอแนะของรมว.คลังให้ธปท.ดูแลค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลงจากมูลค่าที่แท้จริงราว 5% เพื่อผลักดันการส่งออกในช่วงที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวว่า ธปท.ยืนยันว่าการดูแลค่าเงินบาทให้เคลื่อนไหวไปตามค่าเงินในภูมิภาคมีความเหมาะสมเพราะเป็นวิธีที่ดีที่สุด และจะใช้แนวทางนี้ต่อไป
ส่วนการอ่อนค่าของเงินบาทในขณะนี้ เป็นผลมาจากการไหลออกของเงินทุนจากภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติพากันขายสินทรัพย์เพื่อนำเงินสดไปสนับสนุนกิจการของบริษัทแม่ในสหรัฐและยุโรป
สำหรับแนวคิดที่จะให้ใช้แนวทางการกำหนดนโยบายการเงิน มาใช้การดูแลอัตราแลกเปลี่ยนแทนการตั้งเป้าหมายอัตราเงิเนฟ้อนั้น จะต้องมีการกำหนดช่วงการเคลื่อนไหวของค่าเงิน ซึ่งมาตรการในลักษณะแบบนี้ไม่ค่อยทำกัน
นางธาริษา กล่าวว่า การดูแลค่าเงินบาทให้เคลื่อนไหวไปตามภูมิภคก็จะทำให้ผู้ส่งออกของไทยไม่เสียเปรียบประเทศคู่แข่งอยู่แล้ว ขณะที่ผู้ส่งออกเองก็ควรจะปรับตัวด้วยการกระจายตลาด ลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพ
นอกจากนั้น นโยบายคลังมีความจำเป็นที่จะเข้ามาดูแลเศรษฐกิจ เพราะการใช้นโยบายการเงินมีข้อจำกัดกันทั่วโลกในตอนนี้ และนโยบายการเงินก็มีผลแค่ส่งสัญญาณและลดต้นทุนการเงินได้ระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ขณะนี้ก็ถือว่าต้นทุนการเงินของไทยค่อนข้างต่ำ เพราะอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบอยู่ และอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันก็สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว แต่คงต้องใช้มาตรการอื่นเข้ามาช่วย
นางธาริษา ยังกล่าวถึงแนวคิดที่จะขยายเวลาการคุ้มครองเงินฝาก 100% ออกไปเป็น 3 ปี จากที่จะต้องทยอยปรับลดลงตั้งแต่ปีหน้าว่า สิ่งที่ไทยดำเนินการอยู่ถือว่าดีอยู่แล้ว โดยธปท.ก็มีตัวแทนเข้าไปอยู่ในกรรมการสถาบันคุ้มคาองเงินฝาก หากมีข้อเสนอใด ๆ ก็สามารถหารือกันในคณะกรรมการได้
นอกจากนั้น การกำหนดให้สถาบันการเงินปฏิบัติตามมาตรฐาน Basel II ก็มีความเหมาะสม เพราะปัจจุบันสถาบันการเงินทุกแห่งเตรียมพร้อมแล้วที่จะทำตามมาตรฐานดังกล่าว หลังจากเตรียมการมานานหลายปีแล้ว และน่าจะส่งผลดีต่อสถาบันการเงินมากกว่าผลเสีย เพราะมั่นใจว่าจะไม่กระทบกับการเติบโตของสินเชื่อในระยะนี้