นายทนง พิทยะ อดีตรมว.คลัง ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.คลัง จะให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงจากมูลค่าที่แท้จริงเพื่อสนับสนุนการส่งออก และใช้นโยบายกำหนดเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยน(Exchang Rate Targeting)แทนใช้เป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting)
นายทนง กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณารายละเอียดว่าแนวคิดที่รมว.คลังเสนอนั้นมีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน เพราะเรื่องดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน อาจกลายเป็นการบิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยนจากภูมิภาคได้ และผลกระทบที่เกิดขึ้นจะทำให้ตลาดเกิดการเก็งกำไร และอาจมีผลให้เงินบาทมีระดับไม่เหมาะสม แต่ท้ายที่สุดแล้ว มองว่าแม้ว่าจะใช้นโยบายอย่างไร อัตราแลกเปลี่ยนก็จะปรับตัวให้สอดคล้องกับค่าเงินภูมิภาคอยู่ดี
การใช้ Exchang Rate Targeting ก็ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ดังนั้น จึงต้องดูผลกระทบเกิดขึ้นให้ละเอียด และต้องให้ ธปท.ช่วยวิเคราะห์ด้วยว่าจะได้ประโยชน์จริงหรือไม่ เพราะการใช้ Exchang Rate Targeting จะกลายเป็นความเสี่ยง ทำให้เกิดการเก็งกำไรได้ เพราะตลาดจะรู้ว่ารัฐบาลจะมีเป้าหมายทำอะไร
"แนวคิดของรมว.คลัง คงยังเป็นเพียงแนวคิด แต่ยังไม่ได้บอกว่าจะทำ ดังนั้นอย่าไปคิดอะไรมาก"นายทนง กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากความเห็นของรมว.คลัง และ ธปท. มีความเห็นคนละด้าน ก็คงต้องมีการเปิดเวที เพื่อปรึกษานโยบายให้การทำงานให้สอดคล้องกัน โดยหน้าที่รับผิดชอบหลักของรมว.คลัง ก็ดูเรื่องการคลัง ส่วนธปท.ก็ดูเรื่องนโยบายการเงินอยู่แล้ว
สำหรับนโยบายดอกเบี้ย นายทนง มองว่า ในขณะนี้ยังไม่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจมากนัก แต่รัฐบาลควรที่จะมีนโยบายเพื่อให้อัตราดอกเบี้ยเป็นกลไกให้เศรษฐกิจขยายตัว และเพื่อให้ภาคธุรกิจมีเงินทุนหมุนเวียน
แต่เรื่องสำคัญ มองว่า ขณะนี้เศรษฐกิจการเงินโลกมีความผันผวน ทำให้ธนาคารพาณิชย์มีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ เพราะกลัวเกิดเอ็นพีแอล ทำให้มีการปล่อยสินเชื่อช้าลง หรือน้อยลง ดังนั้น ต้องทำให้การปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบธุรกิจ เป็นการสร้างโอกาสให้ภาคธุรกิจ ทำให้เศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียน และหากธุรกิจหมุนเวียนดีก็ทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้
ส่วนนโยบายสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดชึ้น เขายอมรับว่าความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลและไม่กล้าลงทุน และยิ่งเศรษฐกิจโลกมีความผันผวน ก็กระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้น และระยะต่อไปกระทบต่อภาคการส่งออก และกระทบต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ดังนั้น แนวทางที่รัฐบาลต้องทำ คือควรสร้างความเชื่อมั่นแนักลงทุนในประเทศก่อน ถ้าดำเนินการในหลายๆนโยบาย ในภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ก็ทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้
แต่ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยขณะนี้ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลกเป็นหลักว่าจะเดินไปทิศทางไหน เนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมาโตจากภาคการส่งออกที่มีมูลค่าถึง 70% ของจีดีพี หากการส่งออกชะลอตัวก็อาจจะทำให้การบริโภคชะลอตัวตามไปด้วย