ฟอร์ด มอเตอร์ โค และไครสเลอร์ แอลแอลซี กำลังทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ในสหรัฐตกที่นั่งลำบาก หลังจากที่ เคิร์ก เคอร์โคเรียน มหาเศรษฐีชื่อดังเจ้าของบริษัททราซินดา คอร์ป และ สตีเฟ่น เฟนเบิร์ก นายใหญ่แห่งเซอร์เบอร์รัส แคปิตอล เมเนจเม้นท์ แอลพี ถอนหุ้นออกจากบริษัททั้งสองแห่ง จนอาจทำให้ตลาดยานยนต์สหรัฐขาดที่พึ่งในการระดมทุนก้อนใหม่ๆ ขณะที่ยอดขายมีแนวโน้มดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 26 ปี
บริษัททราซินดาเปิดเผยว่า บริษัทอาจขายหุ้นในฟอร์ด ขณะที่เซอร์เบอรัสกำลังหาทางควบรวมกิจการไครสเลอร์กับเจนเนอรัล มอเตอร์ส คอร์ป หรือผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นๆ ทั้งนี้ ยุคตกต่ำของอุตสาหกรรมยานยนต์เกิดขึ้นเมื่อราคาน้ำมันเบนซินพุ่งขึ้นแตะที่ 4 ดอลลาร์ต่อแกลลอน และวิกฤตสินเชื่อขยายวงกว้างลุกลามไปยังภาคธุรกิจอื่นๆหลังจากที่เลห์แมน บราเธอร์ส อิงค์ ประสบภาวะล้มละลายจนส่งผลกระทบต่อการลงทุนในธุรกิจรถยนต์ของสหรัฐ
"เราไม่รู้ว่าบริษัทเหล่านี้จะหาแหล่งเงินทุนจากที่ไหนได้อีกจนกว่าตลาดจะฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งความหวั่นวิตกต่อธุรกิจรถยนต์จะบรรเทาลงก็ต่อเมื่อแนวโน้มเศรษฐกิจในปีหน้ามีความชัดเจนมากกว่านี้" โทมัส สตอลแคมป์ อดีตประธานไครสเลอร์ คอร์ปกล่าว
ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวของนายเคอร์โคเรียนและเฟนเบิร์กที่หวังถอนเงินทุนออกจากอุตสาหกรรมยานยนต์ในครั้งนี้อาจเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้ค่ายรถควบรวมกิจการกันมากขึ้นในขณะที่ตลาดสินเชื่ออยู่ในภาวะตึงตัว ซึ่งหมายความว่า จีเอ็ม, ไครสเลอร์ และฟอร์ดจะเผชิญความยากลำบากในการหาเงินทุนมาเสริมสร้างสภาพคล่อง
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า มูลค่าหุ้นของจีเอ็มซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในสหรัฐร่วงลง 83% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่เมื่อวานนี้ หุ้นจีเอ็มขยับขึ้น 1 เซนต์แตะที่ 6.54 ดอลลาร์ ส่วนหุ้นฟอร์ดดิ่งลง 74% ในช่วงปีที่ผ่านมา