ธปท.ถกนักวิชาการหาข้อสรุปปรับปรุงกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อคาดสรุป พ.ย.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 22, 2008 15:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เชิญนายแบงก์และนักวิชาการ 28 คนหารือแนวทางการปรับปรุงการบริหารนโยบายการเงิน พุ่งเป้าชั่งน้ำหนักความเหมาะสมระหว่างการกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อจาก Core Inflation หรือ Headline Inflation แต่ที่ประชุมยังไม่มีข้อสรุป เพราะยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่ แต่คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน พ.ย.นี้

นายสมภพ มานะรังสรรค์ อ.ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวภายหลังหารือกับ ธปท.ว่า ที่ประชุมวันนี้ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่าควรจะกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้ออย่างไร เนื่องจากยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่

อย่างไรก็ตาม หากใช้กรอบเป้าหมาย Headline Inflation เป็นตัวกำหนด อาจดำเนินการได้ยาก แต่ก็สะท้อนความจริงได้มากกว่า เนื่องจากราคาอาหารและพลังงานมีน้ำหนักค่อนข้างมากในคำนวณอัตราเงินเฟ้อ โดยมีน้ำหนักถึง 50% ในตระกร้าเงินเฟ้อ และเป็นดัชนีที่เข้าถึงประชาชนทั่วไปได้มากกว่า Core Inflation ซึ่งโดยส่วนตัวสนับสนุนการใช้ Headline Inflation ในลักษณะเป็นรายไตรมาส หรือ รายปี

"ตอนนี้มี 2 ประเทศในโลก ที่ใช้ Core Inflation 1 ในนั้นคือนิวซีแลนด์ ที่เหลือจะเป็น Headline...ต่อไปภาคการเงินจะถูกกำกับดูแลมากขึ้น การเก็งกำไรจะลดลง จากเมื่อก่อนในปี 2543 Core และ Headline ห่างกัน เพราะความไม่สมดุลโลก จากการเปิดเสรีภาคการเงิน การใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย การเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมการเงิน ทำให้เกิดการเก็งกำไรมากขึ้น และมีเงินไหลเข้ามากขึ้น แต่ระยะหลัง Headline และ Core จะเริ่มใกล้กัน โดยเฉพาะหลังเกิดวิกฤติสหรัฐ"นายสมภพ กล่าว

นายสมภพ กล่าวว่า การใช้นโยบายการเงินเพื่อดูแลเงินเฟ้อ เป็นเพียงวิธีหนึ่งของการดูแศรษฐกิจ แต่เป้าหมายจริงคือต้องดูแลประโยชน์ของประชาชนและเสถียรภาพเศรษฐกิจ

ส่วนการกำหนดเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อดูแลเงินเฟ้อ ไม่มีประเทศใดในโลกดำเนินการ โดยเฉพาะนโยบายกดค่าเงินอ่อนกว่ามูลค่าทีทแท้จริง แต่ควรจะปล่อยให้ค่าเงินเคลื่อนไหวตามภูมิภาคน่าจะเหมาะสมที่สุด เพราะภาคการเงินโลกควบคุมได้ยาก ดังนั้น จึงไม่ควรมีการแทรกแซงค่าเงิน ซึ่งหากำหนดให้เงินบาทอ่อนค่า 5% คงต้องใช้เงินสำรองระหว่างประเทศเข้าแทรกแซงจำนวนมาก ดังนั้น ควรปล่อยให้หน่วยงานรับผิดชอบดูแล แต่หากรัฐบาลเข้าไปแทรกแซงการดำเนินนโยบายอาจจะเกิดความเสี่ยงมากขึ้น

ด้านนายพรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การใช้ Headline Inflation กำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ มีความเหมาะสมมากกว่า เพราะสะท้อนค่าครองชีพได้ดีกว่า แต่การใช้ Core Inflation ยังมีวิธีคิดหลายแบบ เช่น อาจไม่นับรวมราคาพลังงาน แต่รวมราคาอาหารก็ได้

ที่ประชุมวันนี้มีแนวคิดหลากหลาย มีการเสนอ 3 ทางเลือก คือ 1.ใช้ Core Inflation เหมือนเดิม 2. ใช้ Healine Inflation 3. ใช้ Core Inflation โดยไม่นับรวมราคาน้ำมัน แต่รวมราคาอาหาร และมีข้อเสนอว่าหากใช้ Headline ควรจะกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ เป็นรายปี หรือ รายไตรมาส

อย่างไรก็ตาม กนง.ต้องเป็นผู้ตัดสินใจในเรื่องนี้ คาดว่าจะมีข้อสรุปภายใน พ.ย.นี้เพื่อเสนอ รมว.คลังพิจารณาต่อไป หลังจากนั้นจะได้เสนอ ครม. พิจารณาเห็นชอบ ในเดือน ธ.ค. ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ. ธปท.ฉบับใหม่

"หากยังไม่สามารถหาข้อสรุปในเรื่องนี้ได้ ก็ต้องมีการหารือต่อไปโดยใช้เหตุผล ไม่ควรใช้การแทรกแซง แต่ใช้เหตุผลทางวิชาการ ไม่ควรใช้เหตุผลทางการเมือง" นายพรายพล กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ