ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโร ปอนด์ และสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตราเมื่อคืนนี้ (22 ต.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายสกุลเงินยูโรและเงินปอนด์อย่างหนัก หลังจากผู้นำอังกฤษและยุโรปได้แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้เกิดการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางอังกฤษและยุโรปจะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ค่าเงินดอลลาร์แข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ระดับ 1.1632 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับของวันอังคารที่ 1.1522 ฟรังค์/ดอลลาร์ แต่อ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับเยนที่ 97.560 เยน/ดอลลาร์ จากระดับ 100.35 เยน/ดอลลาร์
ค่าเงินยูโรร่วงลงแตะระดับ 1.2831 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับ 1.3057 ดอลลาร์/ยูโร และค่าเงินปอนด์ดิ่งลงแตะระดับ 1.6243 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 1.6683 ดอลลาร์/ปอนด์
ส่วนค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียร่วงลงแตะระดับ 0.6675 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับ 0.6716 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์อ่อนตัวลงแตะระดับ 0.5830 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.6058 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์
เดวิด กิลมอร์ นักวิเคราะห์จากบริษัท Foreign Exchange Analytics ในรัฐคอนเน็กติกัต กล่าวว่า ความวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤตการณ์สินเชื่อที่ลุกลามเข้าไปส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้นักลงทุนเทขายสกุลเงินยูโรและปอนด์อย่างหนัก ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ถูกกระหน่ำขายหลังจากมีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางนิวซีแลนด์อาจลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ
"ขณะเดียวกันนักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์สหรัฐหลังจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐ รวมถึงนายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช พยายามผลักดันให้มีการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบที่สอง และจัดการประชุมเพื่อคลี่คลายวิกฤตการณ์การเงิน" กิลมอร์กล่าว
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางนิวซีแลนด์จะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 1.00% เหลือที่ระดับ 6.5% เพื่อจำกัดผลกระทบจากวิกฤตการณ์การเงินที่ลุกลามไปทั่วโลก โดยแบรนดอน โดโนแวน หัวหน้านักวิเคราะห์จาก Westpac Banking Corp ในเมืองเวลลิงตัน กล่าวว่า "เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงรวดเร็วมาก เราคาดว่าภาวะตึงตัวด้านสินเชื่อในนิวซีแลนด์จะรุนแรงขึ้นและยอดส่งออกจะอ่อนตัวลงมากขึ้นด้วย ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้จะบีบให้ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ลดดอกเบี้ยลงมากถึง 1.00%"