อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงค์ในตลาดเอเชียมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังจากที่ปรับตัวลดลตลอดทั้งสัปดาห์นี้ ท่ามกลางวิกฤตสินเชื่อทั่วโลกที่กดดันอัตราดอกเบี้ยในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเคลื่อนไหวใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 6 ปี หลังจากที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ขู่ว่าอาจพิจารณาปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ของรัสเซีย
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ณ เวลา 10.08 น.ตามเวลาท้องถิ่น อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงค์ประเภท 3 เดือนของออสเตรเลียขยับขึ้น 0.03% แตะที่ระดับ 5.89% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค. ขณะที่ส่วนต่างพันธบัตรรัฐบาลในตลาดเกิดใหม่กับพันธบัตรสหรัฐเมื่อวานนี้เพิ่มขึ้น 0.27% แตะที่ 8.29% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2545
ตลาดสินเชื่อเริ่มประสบภาวะตึงตัวหลังจากที่เลห์แมน บราเธอร์ส โฮลดิ้ง อิงค์ ล้มละลายไปเมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา จนทำให้รัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกร่วมมือเข้าช่วยเหลือสถาบันการเงินและอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งยังคงลังเลใจที่จะออกเงินกู้ให้กับธนาคารด้วยกัน แม้ว่าจะดอกเบี้ยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจะปรับตัวลดลง เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกถดถอยได้เริ่มบ่อนทำลายเศรษฐกิจตั้งแต่ประเทศอาร์เจนติน่าไปจนถึงเกาหลีใต้และฮังการี
"แม้แนวโน้มความเคลื่อนไหวในตลาดจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ขณะเดียวกันความวิตกกังวลในตลาดเกิดใหม่ก็เริ่มปะทุขึ้นด้วยเช่นกัน" เบซา เดด้า นักวิเคราะห์จาก St. George Bank Ltd. กล่าว "หลายฝ่ายยังมีความวิตกกังวลเรื่องวิกฤตสินเชื่อ ขณะที่การระดมเงินทุนก็มีความยากลำบาก"
ทั้งนี้ เบลารุส เป็นอีกหนึ่งประเทศต่อจากไอซ์แลนด์, ปากีสถาน, ฮังการี และยูเครนที่ขอกู้เงินฉุกเฉินอย่างน้อย 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เนื่องจากวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบให้ประเทศเหล่านี้ไม่สามารถหาเงินมาใช้หนี้ได้