ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)มีความโน้มเอียงที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น Fed Funds ลงอีกร้อยละ 0.25-0.50 จากร้อยละ 1.50 มาที่ร้อยละ 1.00-1.25 ในการประชุมวันที่ 28-29 ตุลาคม 2551 นี้
แม้สภาวะตลาดเงินจะเริ่มทยอยปรับตัวดีขึ้นในระยะสั้น แต่สถานะทางด้านเครดิตที่ยังมีปัญหาและคงต้องใช้เวลาในการเยียวยาอีกยาวนาน ตลอดจนความอ่อนไหวที่วิกฤตการเงินจะลุกลามไปสู่ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงให้ตกไปอยู่ในภาวะถดถอยที่ลึกและรุนแรง คาดว่าจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้เฟดยังมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินและใช้เครื่องมือทางการเงินที่มีอยู่ไปในเชิงที่ผ่อนคลายมากขึ้นเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจการเงินในภาพรวมให้คืนกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
"ปัญหาในภาคการเงินและสถาบันการเงินที่กำลังขยายขอบเขตไปสู่ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงของสหรัฐฯผ่านตลาดแรงงานและการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มอ่อนแอลง อาจทำให้สหรัฐฯต้องประสบกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่ลึกและรุนแรงในระยะข้างหน้า"บทวิเคราะห์ ระบุ
ขณะเดียวกัน แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มผ่อนคลายลง ตามการปรับตัวลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ก็น่าจะเอื้อให้เฟดและธนาคารกลางทั่วโลกมีความยืดหยุ่นมากขึ้นที่จะดำเนินนโยบายการเงินไปในแนวทางที่สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจด้วย
ทั้งนี้ แม้ว่าประสิทธิผลของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในการประชุมรอบนี้ อาจจะไม่สามารถช่วยให้วิกฤตการเงินสิ้นสุดลงหรือทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯรอดพ้นจากภาวะถดถอยไปได้ แต่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯที่ลดลงดังกล่าว ก็น่าที่จะเป็นข่าวดีที่สนับสนุนบรรยากาศของตลาดในภาพรวม และมีผลในเชิงจิตวิทยาต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน
นอกจากนี้ เป็นที่คาดการณ์ว่าทั้งเฟดและทางการสหรัฐฯ ตลอดจนประเทศต่างๆทั่วโลก คงจะยังมีการทยอยประกาศมาตรการกอบกู้วิกฤตการเงินออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับข่าวร้ายหรือปัญหาเฉพาะหน้าที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไป