พาณิชย์วางแผนรับมือวิกฤตฺเศรษฐกิจ มั่นใจยอดส่งออกปี 52 ขยายตัว 10%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 24, 2008 17:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กรมการส่งเสริมการส่งออก กำหนดกลยุทธ์และแผนผลักดันการส่งออกเพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น เพื่อผลักดันให้การส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ประมาณ 10% หรือมีมูลค่า 197,600 ล้านเหรียญสหรัฐ จากฐานการส่งออกในปี 2551 ที่คาดว่าจะขยายตัว 15% มูลค่า 174,910 ล้านเหรียญฯ โดยประเมินถึงผลกระทบจากวิกฤตการเงินในสหรัฐที่ลุกลามไปยังเศรษฐกิจประเทศต่างๆ และผลกระทบทางด้านราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว

"มั่นใจว่าการส่งออกในปีหน้าจะขยายตัวได้ประมาณ 10% ซึ่งได้ประเมินความเสี่ยงต่างๆ ไว้แล้ว และได้จัดทำแผนรับมือไว้แล้วเช่นกัน โดยแผนงานที่จะดำเนินการมี 924 โครงการ ทั้งการบุกเจาะตลาดใหม่ การรักษาตลาดหลัก และแผนเชิงรุกเป็นรายสินค้า มั่นใจว่า แม้ปีหน้าจะมีปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่การส่งออกของไทยจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก และยังขยายตัวได้ดี แต่ยอมรับว่าจะชะลอตัวลงจากปีนี้เล็กน้อย โดยตัวเลขการส่งออกทางการ กรมฯ จะหารือกับผู้ส่งออกและประกาศปลายเดือนพฤศจิกายนหรือต้นเดือนธันวาคมนี้" นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าว

แผนส่งออกปีหน้าที่จะไปตลาดหลัก คือ สหรัฐ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป(อียู) จะขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.3% ส่วนการส่งออกไปอาเซียนและตลาดใหม่ คือ จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก แอฟริกา และละตินอเมริกา ขยายตัว 14.1%

สำหรับปัจจัยเสี่ยงในปีหน้าคือ วิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นในสหรัฐและอียูที่ลุกลามทำให้เศรษฐกิจโลก และการค้าโลกชะลอตัว โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)คาดการณ์ล่าสุดในเดือน ต.ค.ว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวเพียง 3% จากปีนี้ที่คาดขยายตัว 3.9% ส่วนการค้าโลกคาดขยายตัวเพียง 4.1% จากปีนี้ที่คาดขยายตัว 4.9%

"ความเสี่ยงจากวิกฤตการเงินในประเทศต่างๆ ยังไม่หยุดนิ่ง และยังอาจเกิดปัญหาระบบสถาบันการเงินทั้งในอียูและสหรัฐล้มละลายเพิ่มเติมได้อีก แต่กรมฯ ได้เตรียมแผนรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น เพื่อไม่ให้กระทบการส่งออกของไทยในปีหน้าแล้ว" นายราเชนทร์ กล่าว

รายละเอียดของกลยุทธ์และแผนผลักดันการส่งออกเพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมีทั้งสิ้น 5 แผนหลัก ได้แก่ การผลักดันการส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารให้มีสัดส่วนการส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 17-19% จากเดิม 17% โดยมีกิจกรรมที่จะดำเนินการ 130 โครงการ แยกเป็นตลาดหลัก 50 โครงการ ตลาดใหม่ 55 โครงการ และทุกตลาด 23 โครงการ,

การส่งเสริมการส่งออกเป็นพิเศษในตลาดที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกน้อย ได้แก่ อาเซียน จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก และแอฟริกา ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออก 65.3% ของการส่งออกรวม โดยจะผลักดันให้ส่งออกเพิ่มขึ้น 65-67% เพื่อชดเชยตลาดหลักที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยมีกิจกรรมที่จะดำเนินการทั้งสิ้น 519 โครงการ

ส่วนตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวจากวิกฤตการเงินในสหรัฐมีสัดส่วนการส่งออก 34.7% จะมุ่งส่งเสริมตลาดไม่ให้ส่งออกลดลง มีกิจกรรมที่จะดำเนินการ 173 โครงการ,

การส่งเสริมธุรกิจบริการ เพื่อสนับสนุนให้ส่งออกทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะเป็นธุรกิจที่มีการจ้างงานโดยตรงประมาณ 1 ล้านคน ทางอ้อม 20 ล้านคน สร้างรายได้ให้ประเทศปีละ 500,000 ล้านบาท ซึ่งจะเน้นธุรกิจบริการ เช่น ร้านอาหาร บันเทิง ภาพยนตร์ เพลง การศึกษา สปาและโรงพยาบาล และสนับสนุนธุรกิจใหม่ๆ เช่น แฟรนไชส์ การออกแบบ ก่อสร้าง อู่ซ่อมรถ ตัดเย็นเสื้อผ้าผ่านอินเตอร์เน็ต มีกิจกรรมที่จะดำเนินการ 102 โครงการ,

การลดต้นทุนในระบบโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องกับการค้า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในการส่งออก สนับสนุนให้รัฐบาลลงทุนด้านสาธารณูปโภค เช่น รถไฟรางคู่ ท่าเรือ รถไฟ และลดขั้นตอนราชการโดยให้บริการส่งออก ณ จุดเดียว เป็นต้น

และการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยไปดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ โดยสนับสนุนให้เข้าไปตั้งโรงงานผลิตสินค้าในสาขาที่ไทยเข้มแข็ง เช่น อาหาร อาหารเพื่อสุขภาพ การเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร การก่อสร้าง พลังงาน สุขอนามัย การทำคอนแทรกฟาร์มมิ่ง และการเปิดสาขา หาตัวแทนและหุ้นส่วนในต่างประเทศ ในตลาดอาเซียน จีน ตะวันออกกลาง

ส่วนกิจกรรมอื่นๆ จะหาทางใช้ประโยชน์จากการเจรจาและจัดทำข้อตกลงการค้าในทุกกรอบการค้า ทั้งกรอบพหุภาคี และกรอบทวิภาคี การพัฒนาผู้ประกอบการรายใหม่ในภูมิภาคให้เพิ่มขึ้น การพัฒนาย่านการค้านานาชาติ เพื่อให้เป็นศูนย์ส่งออกทั้งทางตรงทางอ้อม เช่น สีลม สุรวงค์ และมเหสักข์ เป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ วรจักร เป็นศูนย์กลางการค้าชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ ใบหยก โบ๊เบ๊ เป็นศูนย์กลางการค้าเสื้อผ้าส่งออก และการพัฒนารูปแบบและคุณภาพสินค้า เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ