พาณิชย์กล่อมผู้ผลิตอาหารสัตว์ยอมลดราคาลง 5% มีผลตั้งแต่พรุ่งนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 27, 2008 17:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ผู้ผลิตอาหารสัตว์พร้อมให้ความร่วมมือในการปรับลดราคาอาหารสัตว์ลง 5% โดยจะมีผลตั้งแต่วันพรุ่งนี้(28 ต.ค.) เนื่องจากขณะนี้ราคาวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์หลายรายการได้ปรับลดลง โดยราคาอาหารสัตว์บกจะลดลงมากกว่าอาหารสัตว์น้ำ ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนในการเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรลดลงด้วย

"ผู้ประกอบการจะปรับลดราคาอาหารสัตว์ลงทันที 5% แต่อาจจะปรับลดลงมากน้อยไม่เท่ากัน แต่โดยเฉลี่ยคือ 5% ตามราคาวัตถุดิบที่นำมาผลิตอาหารสัตว์ที่ได้ปรับราคาลดลง โดยอาหารสัตว์บกสำหรับเลี้ยงไก่เนื้อ ไก่ไข่ และหมู จะลดลงมากกว่าเพราะวัตถุดิบลดมากกว่า แต่อาหารสัตว์น้ำสำหรับเลี้ยงกุ้งจะลดลงน้อยกว่า เพราะวัตถุดิบลดลงไม่มาก" นายยรรยง กล่าว

สำหรับราคาวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ ได้แก่ ข้าวโพดในเดือนก.ค. ราคาอยู่ที่ 9.32 บาท/กก. เดือนต.ค.อยู่ที่ 8.07 บาท/กก., กากถั่วเหลืองจาก 17.34 บาท/กก. เหลือ 16.99 บาท/กก., มันเม็ด จาก 5.60 บาท/กก. เหลือ 4.50 บาท/กก., ปลายข้าว ราคา 14.08 บาท/กก. ไม่มีการเปลี่ยนแปลง, รำข้าว จาก 9.70 บาท/กก. เหลือ 6.70 บาท/กก. และปลาป่น ปรับขึ้นราคาจาก 28.85 บาท/กก. เป็น 30.78 บาท/กก.

อธิบดีกรมการค้าภายใน เชื่อว่าราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์คงจะไม่ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบทุกรายการมีแนวโน้มราคาทรงตัว และการแทรกแซงของรัฐบาลก็ไม่ส่งผลให้ราคาปรับเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันมาก อย่างไรก็ดีได้ขอให้ผู้ประกอบการแจ้งราคาอาหารสัตว์ที่ปรับลดลงแล้วมาที่กรมการค้าภายในทุกรายการ เพื่อจะตรวจสอบว่าราคาขายปลายทางปรับลดลงตามที่ผู้ประกอบการแจ้งหรือไม่

ทั้งนี้ ราคาอาหารสัตว์สำหรับเลี้ยงไก่ไข่ ราคาเดือนก.ค.อยู่ที่ 454 บาท/ถุง 30 กก. ราคาใหม่หน้าโรงงานจะอยู่ที่ 418 บาท/ถุง 30 กก. และราคาขายปลีกจะอยู่ที่ 431 บาท/ถุง 30 กก., อาหารสุกร เดิม 489 บาท/ถุง 30 กก. ราคาใหม่หน้าโรงงานอยู่ที่ 435 บาท/ถุง 30 กก. และขายปลีก 460 บาท/ถุง 30 กก.

นอกจากนี้ กรมการค้าภายในอยู่ระหว่างพิจารณาการปรับลดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองจาก 4% โดยศึกษาไว้ 2 แนวทาง คือ ลดเหลือ 0% กับลดเหลือ 0-2% ซึ่งจะพิจารณาดูการปรับลดภาษีดังกล่าวจะช่วยลดต้นทุนในการผลิตอาหารสัตว์ลงเท่าใด และจะต้องเสนอให้คณะกรรมการนโยบายวัตถุดิบอาหารสัตว์พิจารณา เพราะการปรับลดภาษีทำให้กระทรวงการคลังเสียรายได้จากภาษีประมาณ 1,300 ล้านบาท แต่การปรับลดภาษีจะช่วยให้ต้นทุนในการผลิตอาหารสัตว์ถูกลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ