ปลัดกระทรวงคมนาคม เผยขณะนี้สามารถหาข้อสรุปเบื้องต้นเกี่ยวกับรูปแบบการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ได้แล้ว โดยจะเป็นการลงทุนแบบ PPP-GROSS COST ที่รัฐลงทุนก่อสร้างงานโยธา ส่วนเอกชนลงทุนจัดหารถไฟฟ้า ระบบอาณัติสัญญาณ และบริหารเดินรถโดยมีรัฐเป็นผู้ว่าจ้าง ซึ่งหลังจากนี้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) จะตรวจสอบรายละเอียดก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาในเดือน พ.ย.นี้
เมื่อรัฐบาลเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสารก็ต้องรับความเสี่ยงในการลงทุนทั้งหมด ซึ่งในระยะแรกรัฐบาลอาจต้องอุดหนุนค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าให้กับเอกชนหากปริมาณผู้โดยสารไม่เป็นไปตามแผน แต่ในระยะยาวจะสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารเพื่อจูงใจให้ประชาชนใช้บริการได้
"รูปแบบนี้เป็นประโยชน์มาก และในอนาคตจะกำหนดรูปแบบการลงทุนและการเดินรถไฟฟ้าสายทางอื่นในลักษณะเช่นเดียวกัน รวมทั้งสายทางที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบันก็อาจเจรจาเพื่อใช้รูปแบบการลงทุนเหมือนกันทั้งระบบด้วย" นายสุรชัย ธารสิทธิ์พงษ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวหลังการหารือกับตัวแทน สศช., สำนักงบประมาณ และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)
สำหรับการลงทุนแบบ PPP- GROSS COST มีข้อดี คือ รัฐบาลเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสาร สามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม และในอนาคตสามารถออกกฎหมายจำกัดพื้นที่ไม่ให้รถยนต์ส่วนตัวเข้ามาใช้เส้นทางที่มีรถไฟฟ้าให้บริการได้ต่างจากรูปแบบการลงทุนที่ใช้ในโครงการรถไฟใต้ดินที่ให้เอกชนเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสารในปัจจุบัน ซึ่งจะต้องจัดเก็บค่าโดยสารตามเงื่อนไขสัญญาสัมปทาน
ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า หลังจากนี้จะเสนอรายละเอียดรูปแบบการเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงให้ สศช.ไปพิจารณา เพื่อที่จะเสนอให้ ครม.พิจารณาภายในเดือน พ.ย.นี้ ต่อจากนั้นจะได้ประกาศเชิญชวนเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535
ที่ผ่านมาผลการศึกษาพบว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงจะใช้เงินลงทุนทั้งหมดประมาณ 7.6 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นเงินลงทุนของเอกชนประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท รัฐลงทุนประมาณ 6.3 หมื่นล้านบาท ส่วนสาเหตุที่ต้องให้เอกชนร่วมลงทุน เนื่องจากเอกชนมีความคล่องตัวในการจัดหาระบบรถไฟฟ้ามากกว่าภาครัฐ