สหรัฐประกาศใช้งบอุ้ม 9 แบงค์ในประเทศ รวมซิตี้กรุ๊ป,แบงค์ออฟอเมริกา,เจพีมอร์แกน

ข่าวต่างประเทศ Tuesday October 28, 2008 11:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงการคลังสหรัฐประกาศใช้งบประมาณงวดแรกมูลค่า 1.25 แสนล้านดอลลาร์ ให้ความช่วยเหลือธนาคารพาณิชย์ยักษ์ใหญ่ 9 แห่งของสหรัฐ รวมถึงแบงค์ ออฟ อเมริกา, ซิตี้กรุ๊ป, เจพีมอร์แกน,เวลส์ ฟาร์โก, แคปิตอล วัน ไฟแนนเชียล และซันทรัสต์ แบงค์ส โดยการนำงบประมาณดังกล่าวเข้าซื้อหุ้นในธนาคารเหล่านี้ ซึ่งถือเป็นการดำเนินการระยะแรกนับตั้งแต่สภาคองเกรสอนุมัติมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา

นอกเหนือจากการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการธนาคารแล้ว นายเฮนรี พอลสัน รมว.คลัง และเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่นๆของกระทรวงการคลัง กำลังพิจารณาคำร้องขอความช่วยเหลือจากอุตสาหกรรมประเภทอื่นๆด้วย รวมถึง บริษัทประกัน บริษัทรถยนต์ และธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐที่นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นใหญ่

อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นนิวยอร์กไม่ได้ขานรับแถลงการณ์ของกระทรวงการคลังที่ประกาศจะช่วยเหลือธนาคาร 9 แห่ง โดยเมื่อคืนนี้ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลง 203.18 จุด หรือ 2.42% ปิดที่ 8,175.77 จุด ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.พ.ศ.2546

เดวิด เนสัน รมช.คลังสหรัฐกล่าวว่า เม็ดเงินงวดแรกจะอัดฉีดเข้าสู่ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ก่อน รวมถึง แบงค์ ออฟ อเมริกา, ซิตี้กรุ๊ป, เจพีมอร์แกน และเวลส์ ฟาร์โก จากนั้นจึงจะมีการอัดฉีดเงินเข้าช่วยเหลือธนาคารขนาดเล็ก รวมถึง แคปิตอล วัน ไฟแนนเชียล,คีย์คอร์ป และซันทรัสต์แบงค์ส

"การดำเนินการดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะเสริมสร้างงบดุลของธนาคารให้แข็งแกร่งและกระตุ้นสภาพคล่องให้ไหลลื่น นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังเปิดทางให้ธนาคารที่มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่าสามารถนำเงินจากโครงการฟื้นฟูเข้าไปซื้อหุ้นในธนาคารที่มีสถานะทางการเงินที่อ่อนแอกว่า แม้การดำเนินการดังกล่าวจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการขัดขวางการควบรวมกิจการในระบบการธนาคารก็ตาม" เนสันกล่าว

คาเรน โธมัส รองประธานสมาคมธนาคารอิสระแห่งอเมริกาซึ่งมีสมาชิกเป็นธนาคารขนาดเล็กกว่า 8 พันแห่งทั่วสหรัฐ กล่าวว่า ทางสมาคมสนับสนุนให้มีการควบรวมธนาคารที่ประสบปัญหาเพื่อจัดตั้งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้น แต่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่าควรจะเลือกเฉพาะธนาคารที่มีงบดุลแข็งแกร่งที่สุดเข้ารวมตัวกัน

เดวิด วิส หัวหน้านักวิเคราะห์จากสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ในกรุงนิวยอร์กกล่าวว่า "ตลาดหุ้นนิวยอร์กไม่ได้ขานรับความพยายามของรัฐบาลสหรัฐ รวมทั้งเฟดและธนาคารกลางทั่วโลก เพราะมีการตั้งข้อสงสัยว่า "มาตรการเหล่านี้แข็งแกร่งพอที่จะกระตุ้นระบบการกู้ยืมให้กลับมาทำงานได้ตามกลไกปกติจริงหรือไม่ การขาดความเชื่อมั่นจะยิ่งทำให้ตลาดสินเชื่อตึงตัวและติดขัดมากกว่าเดิม" สำนักข่าวเอพีรายงาน



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ