In Focusวิกฤตสินเชื่อโลกชนวนเหตุบริษัทแห่ลดพนักงาน-อัตราว่างงานพุ่งทั่วโลก

ข่าวต่างประเทศ Wednesday October 29, 2008 13:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ที่ลุกลามไปทั่วโลกกำลังส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจในสาขาต่างๆ รวมถึงอัตราว่างงาน โดยบรรดาธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์รายใหญ่ต่างปรับลดต้นทุนค่าใช้จ่ายเพื่อให้บริษัทรอดพ้นจากวิกฤตสินเชื่อทั่วโลกที่รุนแรงจนทำให้เลห์แมน บราเธอร์ส โฮลดิ้ง อิงค์ ประสบภาวะล้มละลาย และส่งผลให้บริษัทสหรัฐและยุโรปถูกเทคโอเวอร์กันไปหลายต่อหลายราย ธุรกิจการเงินทั่วโลกได้ปรับลดพนักงานไปแล้วกว่า 140,000 ตำแหน่ง นับตั้งแต่เดือนก.ค.2550 หลังจากเกิดภาวะล่มสลายในตลาดปล่อยกู้จำนองให้ลูกหนี้กลุ่มซับไพรม์

ล่าสุด กระทรวงแรงงานสหรัฐได้เปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตร (non farm payroll) ประจำเดือนก.ย. ว่า ร่วงลงหนักสุดในรอบกว่า 5 ปี ที่ 159,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นสถิติการรายงานตัวเลขจ้างงานที่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน ส่วนอัตราว่างงานอยู่ในระดับ 6.1%

บริษัทในสหรัฐที่หลายฝ่ายคิดว่าจะเอาตัวรอดไปได้แบบสบายๆก็ยังไม่วายติดร่างแหกับเค้าไปด้วย โดยเฉพาะบริษัทที่ทำธุรกิจในแวดวงไอที ยาฮู อิงค์ (Yahoo Inc.) เป็นยักษ์ใหญ่เจ้าแรกในวงการเสิร์ชเอ็นจิ้นที่เตรียมปลดพนักงานระลอกสองอย่างน้อย 1,500 ตำแหน่ง เพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่เลวร้าย หลังจากผลกำไรประจำไตรมาส 3 ทรุดฮวบลง 64% โดยแผนการดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ยาฮูเริ่มลอยแพพนักงานไปแล้วราว 1,000 ตำแหน่งเมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา

ยาฮู กลายเป็นตัวแทนของกลุ่มธุรกิจไอทีในสหรัฐรายล่าสุดที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาในตลาดสิน เช่นเดียวกับกลุ่มธุรกิจธนาคารและธุรกิจค้าปลีกที่ถูกพิษสงของวิกฤตการณ์ดังกล่าวเล่นงานมาอย่างสาหัสสากรรจ์

นอกเหนือไปจากแผนการปรับลดพนักงานแล้ว ยาฮูยังกำลังพิจารณาที่จะปิดสำนักงานบางแห่งในสหรัฐและอาจจ้างแรงงานราคาถูกจากต่างชาติมาทำงานในบางส่วน พร้อมกันนี้ ยาฮูยังได้ปรับลดคาดการณ์รายได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยคาดว่าผลประกอบการประจำปี 2551 จะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 7.18 -7.38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 7.35-7.85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐที่คาดการณ์ไว้เมื่อช่วง 3 เดือนก่อน

เหยื่อรายต่อมาเป็นยักษ์ใหญ่ด้านเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านอย่างเวิร์ลพูลที่วางแผนจะลดพนักงานลง 5,000 ราย หรือคิดเป็น 6.8% ของจำนวนพนักงานบริษัท เนื่องจากรายได้สุทธิไตรมาส 3 ที่ร่วงลงไป 6.9% ส่งผลให้บริษัทปรับลดการคาดการณ์ตัวเลขกำไรต่อปีลง หลังจากที่วิกฤตสินเชื่อโลกและตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐดิ่งลงจนทำให้ยอดขายอุปกรณ์อำนวยความสะดวกภายในบ้านลดลงตามไปด้วย โดยยอดขายของเวิร์ลพูลขยายตัวแค่ 1.3% ซึ่งถือเป็นระดับที่ชะลอตัวมากที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 3 ปีที่แล้ว

นักวิเคราะห์หลายสำนักมองว่า วิกฤตการเงินโลก มูลค่าบ้านที่ลดลง อัตราว่างงานที่สูงขึ้น ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลง จะทำให้ยอดขายอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในครัวเรือนชะลอตัวลงต่อไป และคาดว่าจะยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ในเร็วๆนี้

เป๊ปซี่โค อิงค์ บริษัทผู้ผลิตขนมคบเคี้ยวรายใหญ่ที่สุดของโลก ก็มีแผนปรับลดพนักงาน 3,300 ตำแหน่ง หลังจากที่ผลกำไรของบริษัทร่วงลงมากกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ การปรับลดพนักงานเป็นส่วนหนึ่งของแผนการลดค่าใช้จ่ายก่อนหักภาษีจำนวน 1.2 พันล้านภายในช่วง 3 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนที่จะปิดโรงงานถึง 6 แห่งด้วย

กำไรสุทธิของบริษัทลดลงแตะ 1.58 พันล้านดอลลาร์ หรือหุ้นละ 99 เซนต์ เทียบกับ 1.74 พันล้านดอลลาร์ หรือหุ้นละ 1.06 ดอลลาร์ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ยอดขายของเป๊ปซี่โค ดีดขึ้นแตะ 1.12 หมื่นล้านดอลลาร์ จาก 1.02 หมื่นล้าน แต่ยอดขายเครื่องดื่มที่ลดลงในภูมิภาคอเมริกาเหนือ ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 4 ของรายได้ต่อปีของเป๊ปซี่โค ส่งผลกระทบต่อกำไร โดยผู้บริโภคได้ลดการซื้อน้ำอัดลมเพื่อประหยัดเงินสำหรับใช้เป็นค่าใช้จ่ายด้านอาหารและพลังงานที่แพงขึ้น

ยุโรปหนีไม่พ้นกระแสลดพนักงาน เครดิตสวิส เตรียมปลดพนักงาน 500 ตำแหน่งหลังขาดทุนหนัก

ข้ามฝั่งมาที่ยุโรป สถาบันการเงินที่ต้องเอาตัวรอดในช่วงวิกฤตก็ตัดสินใจลดพนักงานเช่นกัน เครดิต สวิส กรุ๊ป เอจี ธนาคารขนาดใหญ่อันดับ 2 ของสวิตเซอร์แลนด์ เตรียมปลดพนักงาน 500 ตำแหน่งในแผนกหลักทรัพย์และบางส่วนในแผนกรองรับระบบ ส่งผลให้จำนวนพนักงานที่ถูกปลดเพิ่มเป็น 1,565 รายในช่วงปีที่ผ่านมา สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า คาเรน ลอเรียโน-ริคาร์ดสัน โฆษกหญิงของเครดิต สวิส กล่าวว่า การลดจำนวนพนักงานดังกล่าวเป็นไปตามสภาพตลาดและความจำเป็นของจำนวนพนักงานในการรองรับความต้องการของลูกค้า ทั้งนี้ แผนกหลักทรัพย์มีพนักงานรวม 21,300 คน ณ วันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา

เบรดี้ ดูแกน ซีอีโอของธนาคารกล่าวว่า สภาพการณ์ของธนาคารยังอยู่ในภาวะเสี่ยงในไตรมาส 4 หลังจากที่ขาดทุนไปแล้วในไตรมาส 2 จากวิกฤตซับไพร์มซึ่งส่งผลให้ธนาคารและบริษัทโบรกเกอร์อีกหลายแห่งต้องปลดพนักงานรวมกว่า 148,000 ตำแหน่ง และได้รับความสูญเสียรวมกันกว่า 6.8 แสนล้านดอลลาร์

ยูบีเอส เอจี คู่แข่งรายใหญ่ของเครดิต สวิส และเป็นธนาคารยุโรปที่ได้รับความเสียหายหนักสุดจากวิกฤตซับไพร์ม ก็เตรียมปลดพนักงาน 2,000 ตำแหน่งในแผนกธนาคารเพื่อการลงทุน หลังจากที่ปลดไปแล้วกว่า 7,000 ตำแหน่งในปีนี้

จีนไม่พ้นโดนหางเลข

ยักษ์ใหญ่ของเอเชียอย่างจีนเองก็ถึงกับซึม โดยหวาง ซูเจิน เจ้าของโรงงานผลิตของเล่นแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ย่านชานเมืองกรุงปักกิ่ง ยอมรับว่า ตอนนี้ธุรกิจไม่ดีเหมือนที่เคยเป็นในช่วง 2 ปีที่แล้ว ออเดอร์น้อย ลูกค้าก็ไม่มากนัก ต่างจากเมื่อปีที่แล้วเมื่อโรงงานมีพนักงานถึง 80 คนที่ช่วยกันผลิตของเล่นกันอย่างขะมักเขม้น แต่ตอนนี้ มีแค่เขากับญาติเท่านั้นที่ยังทำงานอยู่ที่โรงงาน ส่งผลให้หวางถึงกับคิดที่จะเลิกผลิตของเล่น แล้วหันไปผลิตรองเท้าแตะแทน

บีบีซีชี้ว่า เหตุของเล่นปนเปื้อนสารตะกั่วที่เกิดขึ้นในจีนเมื่อปีที่แล้วเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาที่ทำให้ บริษัทผู้ผลิตของเล่นครึ่งหนึ่งของจีนต้องล้มหายตายจากไปในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา ประกอบกับเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปที่หดตัวลง ทำให้ยอดสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลง รวมทั้งการออกกฎเกณฑ์ด้านความปลอดภัยใหม่ๆมาใช้ทำให้ต้นทุนค่าแรงสูงขึ้น

ผู้สื่อข่าวบีบีซีที่มาทำข่าวที่โรงงานแห่งนี้ได้รับตุ๊กตาหมีแพนด้ากลับติดมือไป 1 ตัว ด้วยเจ้าของยืนยันให้เอากลับไป เพราะมีลูค้าต่างชาติมาสั่งเอาไว้ แต่ก็ไม่ได้กลับมาเอาสินค้า

องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฟันธงปีหน้าอัตราว่างงานอาเซียนพุ่งหลังเศรษฐกิจชะลอตัว

ILO ระบุในรายงานว่า อัตราว่างงานใน 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนอาจพุ่งขึ้นแตะระดับ 6.2% ในพ.ศ.2552 จากยอดปีที่แล้วที่ระดับ 5.7% พร้อมกับแนะนำให้กลุ่มอาเซียนเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตเพื่อให้ทัดเทียมกับจีนที่มีอัตราผลผลิตแซงหน้าประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เกกอร์รี ซีราสกี้ หัวหน้านักวิเคราะห์ของ ILO กล่าวว่า เศรษฐกิจเอเชียชะลอตัวลงอย่างมาก เนื่องจากยอดส่งออกทรุดตัวลง ซึ่งเป็นผลพวงจากวิกฤตสินเชื่อทั่วโลกที่สร้างความเสียหายต่อระบบการธนาคารทั้งในสหรัฐและยุโรป จนทำให้หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยอมเปิดตลาดกว้างขึ้นเพื่อที่จะจัดตั้งเขตเศรษฐกิจแบบเดียวกับในสหภาพยุโรปภายในปีพ.ศ.2558

"การพึ่งพาการส่งออกและการลงทุนจากต่างประเทศมากเกินไปยิ่งส่งผลให้เศรษฐกิจเอเชียเปราะบางมากขึ้นในยามที่เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวลง เราคิดว่าเอเชียควรปรับปรุงประสิทธิภาพด้านแรงงานและสนับสนุนการรวมตัวกันในภูมิภาค เพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นและปกป้องผลประโยชน์ของภูมิภาค อีกทั้งจะช่วยสร้างเสภียรภาพอย่างยั่งยืนและกระตุ้นเศรษฐกิจเอเชียให้ขยายตัวต่อเนื่องได้" ซีราสกี้กล่าว

ก่อนหน้านี้ ผู้นำในกลุ่มอาเซียนกล่าวว่า เอเชียจำเป็นต้องปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการแข่งขันให้ทัดเทียมกับจีนและอินเดียซึ่งเศรษฐกิจขยายตัวรวดเร็วที่สุดในโลก ทั้งนี้ก็เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากประเทศทั่วโลก โดยอาเซียนซึ่งประกอบไปด้วย ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม มีตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมกว่า 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีประชากรรวมกันราว 570 ล้านคน

สรุปได้ว่า ตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นประเทศใดต่างก็ต้องระมัดระวังกันถ้วนหน้า นักข่าวในกองบ.ก.อินโฟเควสท์ถึงกับเปรยกันเองว่า ถ้าเศรษฐกิจปีนี้เผาจริง ปีหน้าก็คงจะต้องลอยอังคารกันเลยทีเดียว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ