นักวิชาการ แนะรัฐ-ธปท.ลดดอกเบี้ยเสริมสภาพคล่อง-เร่งลงทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 30, 2008 15:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นาย เอกชัย นิตยาเกษตรวัฒน์ คณบดี NIDA Business School และที่ปรึกษาสถาบันวิจัยนครหลวงไทย เปิดเผยว่า ปัญหาวิกฤติการเงินในสหรัฐและยุโรป เชื่อว่าไม่รุนแรงและยืดเยื้อ หลังจาก ธ.กลางประเทศต่างๆ ได้อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อเสริมสภาพคล่องให้สถาบันการเงินต่างๆ แต่ยอมรับว่า อาจมีสถาบันการเงินขนาดเล็กในสหรัฐ ยุโรป หรือบางประเทศในเอเชีย ที่ต้องปิดกิจการ หรือขอรับความช่วยเหลือจากทางการ เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องและเรียกคืนความเชื่อมั่น

ทั้งนี้ประเมินว่าปัญหาวิกฤติการเงินในสหรัฐ และยุโรป จะเริ่มถึงจุดต่ำสุด ในปี 52 และระบบการเงินของประเทศเหล่านี้จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายในปี 53

นายเอกชัย กล่าวว่า ผลกระทบต่อประเทศไทย จะได้รับผลกระทบโดยตรงต่อภาคการค้าการลงทุน มากกว่าภาคสถาบันการเงิน โดยเฉพาะการส่งออกและปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่จะชะลอตัวลง แต่เชื่อว่าจะเป็นเพียงผลกระทบระยะสั้น อย่างไรก็ตามขอเสนอแนะ รัฐบาลและ ธปท. ลดดอกเบี้ยเงินกู้ยืม 0.5-1.0% เพื่อให้เกิดผลทางจิตวิทยา นอกจากนี้ ต้องเร่งเดินหน้าโครงการ เมกะโปรเจ็คท์ขับเคลื่อนศก. ให้เกิดการจ้างงานและป้องกันปัญหาการว่างงาน

นายสุกิจ อุดมศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส สถาบันวิจัยนครหลวงไทย (SCRI) กล่าวว่า ศก.ไทย ยังสามารถรับแรงกระแทกจากภายนอก จากพื้นฐานศก.ที่แข็งแกร่ง โดยประเมินว่า ผลกระทบจากวิกฤติการเงินโลกจะส่งผลให้ศก.ไทยขยายตัวเฉลี่ย ปี 51-55 อยู่ที่ 4-6% โดยจุดต่ำสุดของ GDP อยู่ในปี 52 ไม่เกิน 3.3% ส่วน เงินเฟ้อ ช่วงปี 52-55 เฉลี่ยที่ 3% ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยมาตรฐานมีโอกาสลดลงได้ถึง 3% ในปี 53

สำหรับอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงของระดับรายได้เฉพาะตัวได้แก่ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ นิคมอุตสาหกรรม ค้าปลีก ปิโตรเคมี ยานยนต์ และสิ่งพิมพ์ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยางเม็ดพลาสติกแผงวงจรไฟฟ้า เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีความอ่อนไหวสูงต่อการขยายตัวขศก.ของประเทศและการพึ่งพาการส่งออก ที่คาดว่าสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น จะลดการนำเข้าในปี 52 ลง 10 % ส่วนอุตสาหกรรมที่ไม่ได้รับผลกระทบ คือ กลุ่มโรงพยาบาล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ