บอร์ดรฟท.ตีกลับวงเงินว่าจ้างที่ปรึกษาคุมงานโครงการแอร์พอร์ต ลิงค์

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 30, 2008 17:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อธิบดีกรมทางหลวง ในฐานะก รรมการ การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการรฟท. ว่า ที่ประชุมได้พิจารณารายละเอียดการเพิ่มวงเงินค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง และงานทดสอบระบบ โครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสถานีรับ-ส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง หรือโครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ ซึ่งก่อนหน้านี้รฟท.ได้ขยายเวลาก่อสร้างให้ผู้รับเหมา 550 วัน จึงต้องขยายเวลาการควบคุมงานให้สอดคล้องกับระยะเวลาการก่อสร้าง

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเห็นว่าวงเงินว่าจ้างที่เสนอมาสูงเกินไป จึงให้ทบทวนรายละเอียดอีกครั้ง พร้อมกับทำหนังสือไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อสอบถามรายละเอียดว่าการที่รฟท.ได้ขยายเวลาให้ผู้รับเหมา 550 วัน แบ่งเป็นการขยาย เวลาจากการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า 370 วัน และขยายเวลาตามมติครม.อีก 180 วัน ในส่วนของการขยายเวลาตามมติครม.นั้น หน่วยงานใดต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานที่จะเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ การขยายเวลาการก่อสร้างโครงการแอร์พอร์ต ลิงค์ ส่งผลให้กำหนดส่งมอบงานก่อสร้างเลื่อนเป็นวันที่ 7 ก.พ.52 จากวันที่ 7 ส.ค.2550 และกำหนดส่งมอบงานทดสอบระบบรวม เลื่อนเป็นวันที่ 8 พ.ค.52 จากวันที่ 5 พ.ย.50 โดยรฟท.ตั้งเป้าหมายว่าจะเปิดให้บริการแก่ประชาชนได้ในเดือนส.ค.52

นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการรฟท.กล่าวว่า รฟท.ได้ว่าจ้างกลุ่มที่ปรึกษามีบริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแทนท์ จำกัด หรื อเออีซีเป็นแกนนำ ให้ทำหน้าที่ควบคุมงานก่อสร้างโครงการแอร์พอร์ต ลิงค์ ในวงเงิน 453.80 ล้านบาท โดยสิ้นสุดสัญญาจ้างในวันที่ 10 ก.ย.2550 จึงต้องขยายเวลาการควบคุมงานก่อสร้างต่อไปถึงวันที่ 7 ก.พ.2552 หรืออีก 515 วัน และหลังการเจรจาต่อรอง กลุ่มที่ปรึกษาปรับลดวงเงินค่าจ้างเหลือ 114 ล้านบาท จากที่เสนอมาครั้งแรก 157.88 ล้านบาท ส่วนค่างานในช่วงทดสอบระบบ การทดลองเดินรถ และระยะเวลาประกันความชำรุดบกพร่อง ยังคงเป็นไปตามสัญญาเดิม อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ปรึกษาระบุว่า หากการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จภายในวันที่ 7 ก.พ.2552 ยินดีจะขยายเวลาควบคุมงานต่อไปจนถึงวันที่ 8 พ.ค.2552 โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม แต่หากการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จในวันที่ 8 พ.ค.2552 กลุ่มที่ปรึกษาขอสงวนสิทธิในการคิดค่าใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 8 ก.พ.2552 เป็นต้นไป

"ที่ประชุมเห็นว่าวงเงินค่าจ้างที่เสนอขอมา 114 ล้านบาทสูงเกินไป และให้ดูว่าการขยายเวลาในส่วนของ 370 วัน ส่วนหนึ่งเป็นความผิดของกลุ่มที่ปรึกษาด้วยหรือไม่ หากที่ปรึกษามีส่วนต้องรับผิดชอบ จะต้องปรับลดวงเงินว่าจ้างลง ซึ่งรฟท.จะเร่งพิจารณารายละเอียดเพื่อเสนอต่อที่ประชุมอีกครั้ง" นายยุทธนา กล่าว

นอกจากนั้น รฟท.ยังเสนอให้ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่ย่านโรงงานมักกะสัน พื้นที่ 517 ไร่ ซึ่งก่อนหน้านี้ รฟท.ได้ว่าจ้างบริษัท ให้ศึกษาความเหมาะสม และออกแบบเบื้องต้นสำหรับการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งบริษัทได้ส่งมอบผลการศึกษาในเดือนพ.ค.2548 ต่อมาคณะกรรมการรฟท.มีมติให้ศึกษาเพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะปัจจุบัน

"เราอยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดร่างทีโออาร์เพื่อใช้คัดเลือกที่ปรึกษา โดยตั้งกรอบวงเงินว่าจ้างไว้ที่ 13.5 ล้านบาทรวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว คาดว่าจะคัดเลือกบริษัทได้ในเดือนก.พ.252 และจะได้ผลสรุปผลศึกษาในเดือนมิ.ย.52 หลังจากนั้นจะเสนอให้คณะกรรมการรฟท.และกระทรวงคมนาคมพิจารณาต่อไป"นายยุทธนา กล่าว

นอกจากนั้น ที่ประชุมยังพิจารณาเรื่องการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2552 โดยต้องการให้เบิกจ่ายงบประมาณตามแผนที่กำหนด และให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบโดยเร็ว เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาล โดยในปี 52 รฟท.ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 9,842.85 ล้านบาท และได้รับการจัดสรรงบประมาณลงทุน 26,186.52 ล้านบาท

โดยโครงการสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ โครงการก่อสร้างทางคู่เส้นทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออก ตอน ฉะเชิงเทรา-ศรีราชา-แหลมฉบัง โครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน และบางซื่อ-รังสิต โครงการพัฒนาระบบการขนส่งทางรถไฟสายตะวันออก ช่วงพญาไท-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ