นายธีระชัย แสนแก้ว รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมสภาความร่วมมือด้านยางระหว่างประเทศ(IRTC) และบริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ (IRCo) เห็นพ้องต้องกันว่าจะนำมาตรการที่ประเทศสมาชิกของ IRTC กำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2545 มาใช้เพื่อแก้ปัญหาสถานการณ์ราคายางที่ผิดปกติในปัจจุบัน
โดยมาตรการดังกล่าว ประกอบด้วย มาตรการระยะสั้น ได้แก่ การควบคุมการส่งออก และการดำเนินกลยุทธ์ด้านการตลาด ส่วนมาตรการระยะยาว คือ การจัดการด้านปริมาณผลผลิต สำหรับประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เห็นร่วมกันที่จะดำเนินการลดปริมาณผลผลิตยางด้วยการกำหนดเป้าหมายการปลูกยางใหม่ทดแทนยางเก่าเพิ่มขึ้น 51% จาก 700,000 ไร่ เป็น 1,056,250 ไร่ซึ่งจะทำให้ผลผลิตหายไปจากตลาดประมาณ 215,000 ตัน
พร้อมกันนี้ ไทยจะชะลอการปลูกยางใหม่ด้วยการปลูกพืชอื่นทดแทน ขณะที่อินโดนีเซียจะควบคุมการขออนุญาตปลูกยางใหม่ นอกจากนี้ทั้ง 3 ประเทศจะส่งเสริมให้เกษตรกรลดจำนวนวันกรีดยางลง และยุติการใช้สารเคมีเร่งน้ำยาง
นายธีระชัย กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังเห็นพ้องกับสภาธุรกิจยางอาเซียน(ARBC) ซึ่งประกอบด้วยสมาคมผู้ส่งออกยาง 6 ประเทศ คือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และกัมพูชา เกี่ยวกับมาตรการประสานงานด้านการตลาด ในการที่จะฟื้นความเชื่อมั่นทางการตลาดกลับคืน และยึดมั่นในสัญญาซื้อขาย 3 มาตรการ คือ การขึ้นบัญชีดำ และเลิกทำธุรกิจกับบริษัทที่ผิดสัญญา ส่งเสริมให้มีการเจรจาและใช้อนุญาโตตุลาการในกรณีพิพาท และไม่ยอมลดราคาสินค้า หรือยกเลิกสัญญาที่ได้ตกลงกันไว้ล่วงหน้า
"ที่ประชุมยังมีมติให้ประเทศสมาชิกติดตามการเคลื่อนไหวของตลาดยางอย่างใกล้ชิดและจะมีการติดต่อประสานงานกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ทันการณ์" รมช.เกษตร กล่าว