จีน-อินเดียเดินหน้าใช้นโยบายการเงินเชิงรุก หวังพยุงประเทศพ้นวิกฤตศก.ตกต่ำ

ข่าวต่างประเทศ Monday November 3, 2008 09:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทางการจีนและอินเดียต่างทุ่มเทความพยายามในการใช้นโยบายกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจในยามที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกกำลังเป็นภัยคุกคามต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ

โดยเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางอินเดียได้ปรับลดดอกเบี้ยลงเป็นครั้งที่สองในรอบ 2 สัปดาห์ลงสู่ระดับ 7.5% ขณะที่ธนาคารกลางจีนได้ปรับลดดอกเบี้ยไปเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ก่อนที่จะรายงานตัวเลขผลผลิตอุตสาหกรรมที่หดตัวลงเมื่อเดือนต.ค. ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกับที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ปรับลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุน

"วิกฤตเศรษฐกิจที่ทวีความรุนแรงในประเทศใหญ่ๆหลายแห่งกำลังสร้างแรงกดดันให้เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายในประเทศเอเชียหามาตรการกระตุ้นความแข็งแกร่งในภาคการส่งออก" มาร์ก วิลเลียส์ นักวิเคราะห์จาก Capital Economics Ltd. ในลอนดอนกล่าวพร้อมทั้งคาดว่า "อัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวลดลงอีก"

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็น 1 ใน 5 ของการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังถูกสหรัฐและยุโรปฉุดรั้งให้เศรษฐกิจเผชิญช่วงขาลง ซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้เพิ่มขึ้นว่าเศรษฐกิจโลกจะเผชิญภาวะถดถอย โดยเจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายในอินเดียและจีนกำลังกระตุ้นการใช้จ่ายเพื่อป้องกันเศรษฐกิจไม่ใช้ชะลอตัวลง

รัฐมนตรีคลังอินเดียได้เปิดเผยถึงแผนการใช้จ่ายเงินก้อนพิเศษ 2.4 ล้านล้านรูปี (4.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปีนี้เนื่องจากมองว่าขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่นายกรัฐมนตรีเหวิน เจียเป่าของจีนกล่าวว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก โดยจีนได้เพิ่มแรงจูงใจในการส่งออกด้วยการปรับลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ซื้อสินค้าภายในประเทศ พร้อมทั้งออกเงินช่วยเหลือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

ทั้งนี้ เศรษฐกิจจีนในช่วงไตรมาสที่สามของปีนี้ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 5 ปีเนื่องจากการส่งออกหดตัวและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง

ด้านเดวิด แมนน์ นักวิเคราะห์จาก Standard Chartered ในฮ่องกงกล่าวว่า "เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายในกลุ่มประเทศเอเชียตระหนักถึงความสำคัญในการใช้นโยบายเชิงรุกเพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเพื่อป้องกันมิให้สถานการณ์ความเลวร้ายส่งผลกระทบรุนแรงมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ