รัฐบาลเยอรมนีผุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ $6.4 หมื่นล้าน หลังถูกกระทบหนักจากวิกฤตสินเชื่อ

ข่าวต่างประเทศ Monday November 3, 2008 10:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รัฐบาลเยอรมนีวางแผนใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 5 หมื่นล้านยูโร หรือ 6.4 หมื่นล้านดอลลาร์ หลังจากเศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบจากภาวะตึงตัวในตลาดสินเชื่อทั่วโลก โดยมาตรการดังกล่าวครอบคลุมถึงการกระตุ้นการลงทุนและมาตรการสร้างแรงจูงใจ

แถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีระบุว่า "มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับนี้มีเป้าหมายที่จะเสริมสร้างสถานะทางการเงินให้กับบริษัทเอกชนและจัดหาสภาพคล่องให้กับภาคเอกชนผ่านโครงการลงทุนมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านยูโร ซึ่งรัฐบาลเชื่อว่าการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นการลงทุนและยอดสั่งซื้อของบริษัทเอกชน และกระตุ้นการใช้จ่ายภาคครัวเรือน"

นางแองเจลา เมอร์เกล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีกล่าวว่า รัฐบาลจะใช้มาตรการที่ครอบคลุมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อไปได้ ซึ่งรวมถึงการลดหย่อนภาษีเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลจะพิจารณาเรื่องดังกล่าวอีกครั้งในวันที่ 5 พ.ย.นี้

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลเยอรมนีประกาศลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2552 ลงสู่ระดับ 0.2% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 1.7%

จ็อจ เครมเมอร์ นักวิเคราะห์จาก Commerzbank AG กล่าวว่า "ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเยอรมนียังไม่แข็งแกร่งพอที่จะเยียวยาปัญหาเศรษฐกิจ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับใหม่นี้อาจจะช่วยสกัดกั้นเศรษฐกิจถดถอยได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้"

วิกฤตการณ์สินเชื่อที่ลุกลามในยุโรปได้ส่งผลกระทบต่อเยอรมนีด้วย โดยเมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลเยอรมนีตัดสินใจอุ้มกิจการ ไฮโป เรียล เอสเตท สถาบันการเงินด้านการจำนองอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของเยอรมนี ด้วยการอนุมัติวงเงินกู้ฉุกเฉิน 5 หมื่นล้านยูโร หลังจากบริษัทขาดสภาพคล่องอย่างหนัก

ในช่วงต้นเดือนต.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มประเทศยุโรปได้จัดประชุมสุดยอดวาระพิเศษขึ้น รวมถึงผู้นำเยอรมนี อังกฤษ และอิตาลี โดยที่ประชุมประกาศใช้มาตรการรับมือกับปัญหาในระบบการเงิน ซึ่งครอบคลุมถึงการรับประกันเงินกู้ยืมระหว่างธนาคารพาณิชย์ และจะใช้งบประมาณในรูปสกุลเงินยูโรรับมือกับภาวะสินเชื่อตึงตัวในตลาดและยับยั้งความตื่นตระหนกของนักลงทุน หลังจากตลาดหุ้นในยุโรปถูกกระหน่ำขายอย่างหนัก

ผู้นำ 15 ชาติยุโรปเห็นชอบร่วมกันว่า จะไม่ยอมให้ธนาคารรายใหญ่ล้มละลาย และจะรับประกันเงินกู้ยืมระหว่างธนาคารจนกว่าจะสิ้นสุดปีพ.ศ.2552 อีกทั้งจะใช้มาตรการอัดฉีดเงินเข้าระบบด้วยการซื้อหุ้นบุริมสิทธิ์ของสถาบันการเงิน สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ