คมนาคมส่ง ครม.พรุ่งนี้ย้ำ รฟม.ชิงงานสร้างรถไฟฟ้าสีเขียวจาก กทม.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 3, 2008 17:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.คมนาคม เผยจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อขออนุมัติให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ และสายสีเขียวอ่อน ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เนื่องจากกรุงเทพมหานคร(กทม.)ทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)เพื่อขอเป็นผู้ดำเนินการโครงการดังกล่าว

"การที่จะเข้าลงทุนในโครงการรถไฟฟ้านั้นต้องขอให้ กทม.และบีทีเอส(บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ) ดูศักยภาพของตัวเองก่อน เนื่องจากที่ผ่านมาการดำเนินโครงการส่วนต่อขยายโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสไปฝั่งธนบุรีระยะทาง 2.2 กิโลเมตร ใช้เวลาดำเนินการนานมาก" นายสันติ กล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม เห็นว่ารฟม.มีความเหมาะสมที่จะรับผิดชอบโครงการดังกล่าวตาม พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2543 ที่มีวัตถุประสงค์ในการจัดระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ขณะที่โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าใช้งบประมาณสูง ดังนั้น รัฐบาลกลางจึงน่าจะเป็นผู้รับผิดชอบ รวมทั้งในอนาคตหากต้องการพัฒนาระบบตั๋วร่วมก็จะได้เป็นไปในทิศทางเดียวกันด้วย

อย่างไรก็ตาม หาก กทม.และบีทีเอสมีความสนใจเข้าร่วมลงทุนจริงๆ ก็ให้มาเจรจาอย่างเป็นทางการ ซึ่งกระทรวงคมนาคมไม่ขัดข้อง เพราะยังมีเส้นทางรถไฟฟ้าอีกหลายสายที่รัฐบาลต้องการพัฒนา

ขณะที่ นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) กล่าวว่า ครม.มีมติเมื่อวันที่ 18 มี.ค.51 ให้ รฟม.เป็นผู้ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งในส่วนการปฏิบัติงานนั้น รฟม.และกทม.สามารถทำความเข้าใจร่วมกัน เชื่อว่าการทำงานจะไม่มีปัญหา เพราะยึดประโยชน์ของประชาชน หาก กทม.ต้องการเป็นผู้ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวเพราะเป็นโครงการในเขตกรุงเทพฯ ก็ต้องถามว่าแล้วโครงการรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ทำไมไม่ขอเป็นผู้ดำเนินโครงการด้วย

นายสันติ ยังกล่าวถึงการเร่งรัดโครงการเมกะโปรเจคต์ว่า ขณะนี้ได้เร่งรัดให้ รฟม.เปิดซองเทคนิคสัญญาก่อสร้าง 1 และ 2 ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ คาดว่าจะเปิดซองเทคนิคภายในสัปดาห์นี้ หลังจากมีปัญหาล่าช้าเนื่องจากมีผู้ร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ(ป.ป.ช.)ว่าขั้นตอนการดำเนินงานที่ผ่านมาอาจเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542

"โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงยังไม่ได้เริ่มดำเนินการก็ถูกตรวจสอบแล้ว ซึ่งเป็นการทำลายขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน ขณะที่ทางไจก้า(องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น) ผู้พิจารณาปล่อยเงินกู้ในโครงการก็แสดงความไม่เข้าใจระบบการทำงานนี้เช่นกัน"นายสันติ กล่าว

ด้านนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อธิบดีกรมทางหลวง ในฐานะประธานกรรมการ รฟม.กล่าวว่า คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายจะประชุมพิจารณาประเด็นข้อสังเกตของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกรณีการเพิ่มกรอบวงเงินก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงว่าผิดระเบียบหรือไม่ในสัปดาห์นี้ หลังจากนั้นก็จะเปิดซองเทคนิคทันที แต่เบื้องต้นพบว่าไม่น่าจะผิดระเบียบ เนื่องจาก รฟม.เสนอขอปรับกรอบวงเงินก่อนที่จะเปิดประกวดราคา แต่ขั้นตอนการดำเนินการล่าช้า ทำให้ได้รับการพิจารณาอนุมัติหลังจากประกาศผลการประกวดราคาไปแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ