ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยผลเลือกตั้งสหรัฐกระทบการค้าไทยทั้งทางตรง-อ้อม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 4, 2008 13:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า การชะลอตัวของศก.สหรัฐ อย่างรุนแรงใน Q3/ ที่หดตัวลงถึง 0.3 % นับเป็นอัตราต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 44 สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงของวิกฤตการเงินที่ได้ส่งผลกระทบไปสู่ภาคเศรษฐกิจ และในการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ระหว่างนายบารัก โอบามา ตัวแทนพรรคเดโมแครตและนายจอห์น แมคเคน ตัวแทนพรรครีพับริกัน การกำหนดนโยบายด้านศก.จะเป็นประเด็นสำคัญที่ชาวอเมริกันตัดสินใจ

ทั้งนี้คาดว่า ประธานาธิบดีสหรัฐ คนใหม่ คงจะผลักดันมาตรการกระตุ้นศก. ออกมาอีกชุดเพื่อฟื้นฟูศก.และเยียวยาผลกระทบต่อภาคประชาชนตามที่ผู้สมัครต่างได้หาเสียงไว้ในช่วงก่อนหน้า หลังจากได้มีการอนุมัติเงิน 7 แสนล้านดอลลาร์เพื่อแก้วิกฤติภาคการเงินก่อนหน้านี้แล้ว

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า แนวนโยบายเศรษฐกิจและนโยบายการค้าของนายโอบามาและนายแมคเคนจะทำให้การส่งออกของไทยไปยังสหรัฐ ต้องเผชิญกับปัจจัยท้าทาย โดยที่ ความต้องการสินค้านำเข้าของสหรัฐ โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือยจากตปท. รวมถึงไทย จะลดลงตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ที่ยังเผชิญปัจจัยลบจากปัญหาการขาดดุลแฝดและอัตราการว่างงานที่พุ่งสูงขึ้น นโยบายกระตุ้นศก.โดยการลดภาษีของโอบามา อาจจะไม่สร้างความเชื่อมั่นต่อการบริโภคใของประชาชนได้มากนัก เพราะรายจ่ายในการกระตุ้นศก.ของโอบามามูลค่ามหาศาล ทำให้คนอเมริกัน คาดการณ์ว่า นายโอบาม่า อาจต้องขึ้นภาษีในอนาคตเพื่อเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ

ส่วนการส่งออกของไทย อาจได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะนโยบายการขาดดุลงบประมาณที่สูงขึ้น จากนโยบายกระตุ้นศก.ของทั้งสองพรรคที่มุ่งใช้จ่ายและลดภาษี จะกดดันให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ผลกระทบทางตรงคือ ค่าเงินบาทอาจแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าของไทยในตลาดสหรัฐ มีราคาแพงขึ้น ส่วนผลกระทบทางอ้อมคือ ค่าเงินดอลลาร์ ที่อ่อนค่าลงจะทำให้เงินหยวนของจีนแข็งค่าขึ้นและจะทำให้ราคาสินค้าส่งออกของจีนใน สหรัฐมีราคาแพงขึ้น และเมื่อการส่งออกของจีน ชะลอตัวลง จะทำให้การส่งออกของไทยไปจีนชะลอตัวลงตามไปด้วย

ผู้ประกอบการไทยอาจจะเผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้าทั้งภาษีและมิใช่ภาษีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตร และเกษตรแปรรูป เพราะฐานเสียงส่วนใหญ่ของพรรคเดโมแครตเป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงานและเกษตรกรซึ่งมีอิทธิพลต่อรัฐบาลสหรัฐ นอกจากนี้สหรัฐ อาจมีนโยบายปกป้องทางการค้าอย่างเข้มข้น ทำให้สินค้าส่งออกของไทยต้องพบกับกฎระเบียบทางการค้าอย่างเข้มงวด

การเจรจาความตกลงการค้าเสรี ระหว่างไทยกับสหรัฐ อาจจะยืดเยื้อออกไป เนื่องจากนโยบายของนายโอบามามีท่าทีคัดค้านการเปิดเสรีอย่างชัดเจนโดยเฉพาะกับประเทศกำลังพัฒนาที่มีความได้เปรียบด้านต้นทุนค่าแรง และ หากมาตรฐานสิ่งแวดล้อมและแรงงานที่พรรคเดโมแครตจะกำหนดเป็นเงื่อนไขทางการค้ามีความเข้มงวดมากและไม่สอดคล้องกับมาตรฐานของประเทศกำลังพัฒนา อาจจะกลายเป็นอุปสรรคทางการค้าให้กับผู้ผลิตและผู้ส่งออกของไทย ที่ต้องมีภาระต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการยกระดับมาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ