ผู้ว่าแบงค์ชาติออสเตรเลียเผยเหตุต้องลดดอกเบี้ย 0.75% เพื่อรับมือวิกฤตการเงิน-ตลาดหุ้นทรุด

ข่าวต่างประเทศ Tuesday November 4, 2008 15:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเกลน สตีเฟ่นส์ ผู้ว่าการธนาคารกลางออสเตรเลียออกแถลงการณ์ภายหลังมีมติลดอัตราดอกเบี้ยเกิดความคาดหมาย 0.75% สู่ระดับ 5.25% ในวันนี้ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธนาคารกลางตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยวันนี้เป็นเพราะตลาดการเงินทั่วโลกยังคงผันผวนในเดือนที่แล้ว ขณะที่ตลาดหุ้นทั่วโลกทรุดตัวลงอย่างหนัก และค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียร่วงลงอย่างรุนแรง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้รัฐบาลทั่วโลกประกาศใช้มาตรการเสริมสร้างระบบการเงิน ซึ่งรวมถึงการลดอัตราดอกเบี้ย

"ข้อมูลเศรษฐกิจทั่วโลกสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจในประเทศอุตสาหกรรมชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ และมีข้อมูลบ่งชี้ด้วยว่าเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจประเทศอื่นๆในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ชะลอตัวลงด้วย ซึ่งเป็นเหตุให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทรุดตัวลงและส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจออสเตรเลีย เนื่องจากออสเตรเลียต้องพึ่งพาการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์เป็นรายได้หลัก" แถลงการณ์ระบุ

นอกจากนี้ นายสตีเฟ่นส์กล่าวว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของออสเตรเลียค่อนข้างสอดคล้องกับเป้าหมายที่ธนาคารกลางประเมินไว้ ขณะที่ความต้องการภายในประเทศขยายตัวปานกลาง นอกจากนี้ ธนาคารกลางคาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้ประกาศใช้เมื่อไม่นานมานี้จะช่วยหนุนเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ดี อย่างไรก็ตาม คาดว่าเศรษฐกิจอาจได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ทรุดตัวลง

ธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.75% สู่ระดับ 5.25% ในการประชุมวันนี้ ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าธนาคารกลางจะลดดอกเบี้ยลง 0.5% โดยมีเป้าหมายที่จะปกป้องเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถรับมือกับวิกฤตการณ์การเงินทั่วโลกได้ และเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จีน อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ที่ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยไปก่อนหน้านี้

การตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 2 เดือน โดยเมื่อช่วงต้นเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ธนาคารกลางออสเตรเลียตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ซึ่งเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 7 ปี และได้ลดดอกเบี้ยลงอีก 1% ในช่วงปลายเดือน หลังจากมีข้อมูลบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจออสเตรเลียชะลอตัวลงรวดเร็วกว่าที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ